posttoday

โกรธไหลย้อน

30 มีนาคม 2558

ไม่เพียงสื่อภายใต้คอนโทรลนักการเมือง หากแต่แกนนำวางบิลกำลังหาจุดอ่อนเข้าเจาะยางอาจทำให้รัฐนาวาเสียศูนย์

โดย...อสนีบาต

โดนจี้จุดด้วยข้อเขียนบริหารงานล้มเหลว ทั้งที่อุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตาทำงานก็ต้องขุ่นเคืองกันบ้างล่ะครับ

แบบฉบับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ผู้มีน้ำเสียงดุดัน  เมื่อแสดงอาการโกรธจัดต่อหน้าธารกำนัลย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ผู้นำประเทศ

ไม่เพียงสื่อภายใต้คอนโทรลนักการเมือง หากแต่แกนนำวางบิลกำลังหาจุดอ่อนเข้าเจาะยางอาจทำให้รัฐนาวาเสียศูนย์ต่อเป้าหมายการปฏิรูปประเทศได้

เหนืออื่นใดโรดแมปว่าด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังเดินเข้าสู่โหมดสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดสภาพิจารณาในช่วงเดือน เม.ย.เริ่มเห็นฝนฟ้าก่อตัวกลายเป็นพายุฤดูร้อนโหมเขย่าให้โคลงเคลง

ทั้งการแบ่งกลุ่ม สปช.ออกไปซักซ้อมรอชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่เสียงส่วนใหญ่ออกไปในทำนองไม่เห็นด้วย ย่อมทำให้หัวเรือแม่น้ำห้าสาย ซึ่งกำลังถูกมรสุมหลายลูกเข้ากระหน่ำอยู่แล้ว พานกลัดกลุ้มไปด้วย

สองสามวันมานี้ โดนซักถามเรื่องเลิกอัยการศึกแล้วหันมาใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ฝ่ายหนึ่งวงเล็บนักการเมืองสูญเสียอำนาจ บอกว่า ไม่เป็นผลดี เพราะมาตรา 44 หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจครอบคลุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถือเป็นการแหกตาต่างชาติ ควรเลือกใช้พรก.ฉุกเฉินหรือ พรบ.มั่นคงในราชอาณจักรจะเหมาะสมกว่า

ขณะที่อีกฝ่าย  ก็บอกว่า "ดี"  เพราะเป็นการมอบอาญาสิทธิ์ให้พล.อ.ประยุทธ์เลือกพิจารณาจะออกคำสั่งในการควบคุมสถานการณ์ที่ส่อจะทำให้เกิดความวุ่นวายเป็นครั้งๆไป ไม่เหมือนอัยการศึก ที่คลอบคลุมทั่วราชอาณาจักร   

เชื่อหัวไอ้เรืองเถอะ  สมมติว่า เลิกอัยการศึก ไม่ใช้มาตรา 44  หันไปใช้พรบ.มั่นคง และพรก.ฉุกเฉิน   กลุ่มสูญเสียอำนาจ  นักปลุกระดมวางบิล  ก็ต้องออกมาซัดอีกเหมือนเดิมว่า  เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

สรุป คือไม่ต้องการให้ใช้กฎหมาย คำสั่งใดๆ  มาควบคุมสถานการณ์เลย ปล่อยให้บ้านนี้เมืองนี้เละตุ๊มเป๊ะกันไปเลย  เมื่อเป็นอย่างนี้ผู้มีอำนาจรัฐฐาธิปัตย์ก็หงุดหงิดน่ะสิ ถูกกดดันไล่ต้อนให้ปลดแอกทุกอำนาจ 

ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจถึงภาวะโรคโกรธไหลย้อนเข้าเล่นงานหนักขึ้นทุกวัน

.....................

อีกหนึ่งประเด็นที่ยังคงต้องหาคำอธิบาย สยบคำว่า “สืบทอดอำนาจ” ดูจะเป็นที่มานายกฯ ไม่ได้มาจาก สส. ตามฝ่ายการเมืองที่กำลังโหมโจมตี ช่างไม่เป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย

ทั้งที่เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญหาเป็นเช่นนั้นไม่

ตรงกันข้ามกับหาวิธีสกัดการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งป้องกันการยึดอำนาจกันอีกรอบก็ว่าได้

บทเรียนการเมืองในอดีตเกิดภาวะสุญญากาศชนิดหาคนกลางมาดับไฟขัดแย้งก็ไม่ได้ ต้องติดปัญหาข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญถูกตีความไปคนละทางสองทาง จึงจำเป็นต้องปลดล็อกเขียนบทบัญญัติดังกล่าวไว้

ขณะเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่านายกฯ ต้องมาจากคนนอกสถานเดียว ร่าง รธน.กำหนดไว้ชัด ไม่ว่าจะมาจากส.ส.หรือ คนนอก ต้องได้รับการโหวตจาก สส.ในสภาด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

อีกอย่างหากพิจารณาความน่าจะเป็น   ช่างยากนักที่บรรดาผู้แทนปวงชนชาวไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะโหนคนนอกรับตำแหน่งนายกฯ

กระนั้นในเมื่อเสียงต้านกำลังทำให้สั่นไหว เชื่อเหลือเกินกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมทางออกไว้แล้ว

จะด้วยการปรับแก้ให้ยืดหยุ่น เช่น หากต้องการคนนอกเป็นนายกฯ ก็ต้องได้รับการโหวตจากส.ส.ด้วยเสียงเกิน 2 ใน 3 และต้องพิจารณาเงื่อนไขนำคนนอก ต้องเข้าเงื่อนไขสถานการณ์วิกฤติด้วย

แต่ในชั้นนี้ ต้องอรรถาธิบายถึงเจตนารมณ์ร่าง รธน.ฉบับใหม่ให้มาก  โดยเฉพาะการแก้ไขบทเรียนความขัดแย้งที่นำไปสู่ความยุ่งเหยิง สร้างความยุ่งยากต่อการหาทางออกให้บ้านเมืองในอดีต

ประการสำคัญต้องชี้ให้เห็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหลายมาตราล้วนให้ความสำคัญต่อพลเมืองมีสิทธิมีเสียงร่วมสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเป็นสำคัญ