posttoday

การเมืองไทยเดินหน้าได้ ถ้าคสช.ไม่สืบทอดอำนาจ

05 กุมภาพันธ์ 2558

การเมืองไทยปี 2558 มีเรื่องท้าทายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่หลายเรื่อง

โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

การเมืองไทยปี 2558 มีเรื่องท้าทายรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่สะสมมาจากอดีต ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะนำพาประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เฉพาะเรื่องการเมือง และการร่างรัฐธรรมนูญ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การเมืองไทยปี 2558 ถูกกำหนดโดย 2 เรื่อง คือ 1.การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด และจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้โดยไม่เกิดเรื่องได้หรือไม่ 2.การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลที่สั่งสมมาจะสำเร็จแค่ไหน

หากโฟกัสเรื่องรัฐธรรมนูญ ปริญญา ระบุว่า ตามกรอบเวลาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะต้องยกร่างให้เสร็จภายใน 4 เดือน หลังสงกรานต์เป็นอย่างช้าจะเห็นหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี คสช. ก็มีเวลาให้ความเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 30 วัน คือช่วงเดือน พ.ค. จากนั้น กมธ.จะมีเวลาอีก 60 วัน ในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ เดือน มิ.ย.-ก.ค. และในเดือน ส.ค. ก็จะส่งกลับให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ

ถ้า สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าเป็นไปตามนี้รัฐธรรมนูญก็จะเสร็จประมาณเดือน ก.ย. จากนั้นจะจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งคงใช้เวลาอีก 2-3 เดือน บวกเวลาเตรียมการเลือกตั้งอีก 60 วัน การเลือกตั้งก็จะมีขึ้นประมาณเดือน ก.พ. 2559

“อย่างสั้นที่สุดรัฐบาล คสช.จะอยู่ถึงเดือน มี.ค. 2559 แต่ถ้า สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งก็จะช้าออกไปอีก เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหาก สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะตกไป และ สปช.จะสิ้นสภาพไปพร้อมๆ กับ กมธ.ยกร่างฯ ทุกอย่างก็จะต้องมาเริ่มใหม่หมด หมายความว่า คสช.จะอยู่ยาวไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี” ปริญญา ระบุ

สำหรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจารย์กฎหมายมหาชนเห็นว่าเรื่องใหญ่สุดและคิดว่าจะเป็นปัญหาได้ คือ ที่มาและอำนาจหน้าที่ของ สว. เนื่องจากเท่าที่ดูอำนาจวุฒิสภามีมากขึ้น นอกจากอำนาจถอดถอนตามที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ยังมีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลร่วมกับ สส. และที่มาดูจะหนักไปทางสรรหาหรือแต่งตั้ง คล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2534 ถ้าให้ คสช.หรือรัฐบาล ปัจจุบันมีส่วนในการสรรหาหรือแต่งตั้ง สว.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ก็จะถูกมองได้ว่าเปิดทางให้ คสช.สืบทอดอำนาจได้

ปริญญา ระบุว่า สว.ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ได้ ถ้ามีอำนาจเพียงแค่กลั่นกรองกฎหมาย แต่ถ้าอำนาจมากกว่า สว. ปี 2540 และ 2550 โดยที่มาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็จะกลายเป็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นปัญหาได้

ประเด็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น สส. ปริญญา เห็นว่าในทางวิชาการถ้าบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็อาจไม่จำเป็นจะต้องไปกำหนดว่า นายกฯ ต้องเป็น สส. เพราะอย่างไรแล้ว สส. ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนก็เป็นผู้เลือกนายกฯ อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ตั้งแต่หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 รัฐธรรมนูญเขียนไว้ตลอดมาว่า นายกฯ ต้องเป็น สส. เพราะไม่ต้องการให้กระบวนการเลือกนายกฯ ถูกแทรกแซงจากกองทัพอีก จึงกลายเป็นบรรทัดฐานการเมืองไทยมาตลอดว่า นายกฯ ต้องเป็น สส. ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่กำหนดว่านายกฯ ต้องเป็น สส. ก็เพราะไม่มีปัญหาเรื่องคนนอก หรือทหารมาแทรกแซงการตั้งรัฐบาล

การเมืองไทยเดินหน้าได้ ถ้าคสช.ไม่สืบทอดอำนาจ

“ถ้าไม่กำหนดว่านายกฯ ต้องเป็น สส. เพื่อเปิดช่องทางฉุกเฉิน ก็ควรเขียนให้ชัดเจนว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน หรือในสถานการณ์ยามวิกฤตของบ้านเมืองเท่านั้น โดยต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจน หรือไม่ก็ให้พรรคการเมืองประกาศในตอนเลือกตั้งว่า ถ้าได้ตั้งรัฐบาลจะให้ใครเป็นนายกฯ คือให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า ถ้ามีอะไรทำนองนี้คงพอไปได้

“ถ้าเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เขียนเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ หรือทำให้คนรู้สึกเช่นนั้น เชื่อว่าเราจะกลับสู่สภาวะปกติและเป็นประชาธิปไตยได้โดยไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้จะทำตามใบสั่ง คสช. และยังมองโลกในแง่ดีว่า คสช.น่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ซึ่งจะทำให้กระบวนการกลับสู่ประชาธิปไตยเป็นไปโดยราบรื่น”

นักวิชาการค่ายธรรมศาสตร์ ย้ำว่า การปฏิรูปประเทศจะไม่สำเร็จได้โดยรัฐธรรมนูญ หรือ คสช. หรือ สปช.เท่านั้น แต่คนไทย 65 ล้านคนจะต้องร่วมปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ โดยไม่รอแต่รัฐธรรมนูญ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนดีแค่ไหน ถ้าคนไม่ใช้หรือไม่ทำตามก็ล้มเหลวอีก หรือจะไปรอแต่ทหารให้มาปฏิรูปให้ไม่ได้ คสช.วันหนึ่งต้องกลับสู่กองทัพ

“เราจะคาดหวังให้มีทหารมาจัดระเบียบทุกเรื่อง มาแก้ปัญหาทุกปัญหาให้เราจะไม่มีทางสำเร็จ คนไทยจึงต้องเป็นคนลงมือทำ อย่าไปคาดหวังแต่ทหาร ไม่เช่นนั้นต่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นแบบเดิม พอสะสมปัญหามากเข้าๆ ถึงวันหนึ่งก็ให้ทหารมาปฏิวัติอีก” ปริญญา ระบุ

สำหรับปัจจัยที่สองที่จะกำหนดอนาคตการเมืองไทยในปีนี้ คือ การทำงานของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งประชาชนคาดหวังจากรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจมาก ขณะที่ปัญหาเก่าและปัญหาใหม่ก็มาก จึงแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ ดังนั้นความนิยมจึงจะมีแต่ยิ่งลดลง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ไปถึงเดือน มี.ค. ปีหน้า จนกว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่ง 1 ปี 2 เดือนจากนี้ จะเริ่มมีปัญหาให้แก้มากขึ้น และรัฐบาลจะคุม สปช. สนช.ยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าขัดแย้งกันมาก และไปยกเลิก แต่งตั้งใหม่ ถึงแม้มีอำนาจทำได้ แต่จะเกิดปัญหาแน่นอน

“ผมหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะเชื่อว่าประชาธิปไตยสามารถประสบความสำเร็จในประเทศไทยได้ ถ้าเราแก้ไขถูกทาง และในอนาคตประเทศไทยไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 2557 อีก ครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นการหยุดเพื่อซ่อมปรับปรุง แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ ต้องไม่ใช่การวิ่งถอยหลัง” ปริญญา ระบุ

ปัญหาการเมืองในข้างหน้านี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง หรือคนเชียร์ทักษิณกับยิ่งลักษณ์ กับคนไม่เอาทักษิณไม่เอายิ่งลักษณ์ขัดแย้งกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องของคนทั้งสองสีที่รวมกันต่อต้านรัฐบาลและ คสช. แต่หากรัฐธรรมนูญไม่แย่กว่าเดิมก็คงกลับสู่ประชาธิปไตยได้ในต้นปีหน้าโดยไม่นองเลือด แต่ถ้าแย่ลงหรือมีใครบางคนใน คสช.อยากสืบทอดอำนาจ ก็จะเป็นอีกเรื่อง

อาจารย์ปริญญา บอกว่า ยากเกินไปที่จะคาดเดาว่า พรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง แต่หากวิเคราะห์จากปัจจัย การเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่โอกาสชนะของประชาธิปัตย์ถึงจะมี แต่ต้องทำให้คนตรงกลางมาเลือกตนเอง

โจทย์ของเพื่อไทยและทักษิณ คือ จะเอาใครมาแทนยิ่งลักษณ์ ส่วนโจทย์ของประชาธิปัตย์ คือ จะเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างไรให้ได้เสียงคนตรงกลาง อีกปัจจัยคือต้องดูด้วยว่าจะมีพรรคใหม่มาดึงตัว สส. เก่า หรือดึงฐานเสียงคนตรงกลางไปหรือไม่

ปริญญา คาดการณ์ว่า หากระบบเลือกตั้งใช้ระบบสัดส่วนผสมแบบเยอรมัน ก็จะได้ผลการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและสะท้อนความเป็นจริง ปัญหาก็จะน้อยลง แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้ประชาชนตัดสินและยอมรับผลการเลือกตั้ง อาจจะยังขัดแย้งกัน แต่ต้องอดทนต่อความแตกต่าง และเคารพสิทธิของกันและกันให้มากขึ้น เพื่อให้เลือกตั้งแล้วเดินหน้าไปได้ ไม่วนกลับมาอย่างนี้อีก