posttoday

ยาเสพติด

09 มกราคม 2558

กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป (อียู)

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากมีการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งเข้าอียู

จีเอสพี เป็นสิทธิในการส่งออกสินค้าเข้าอียู โดยจะเสียภาษีในอัตราต่ำกว่าปกติ ที่ผ่านมาไทยเคยได้รับสิทธินี้ในสินค้าประมาณ 6,000 รายการ มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

แต่ในปีนี้หมดสิทธิ การส่งสินค้าเข้าอียูจะเสียภาษีในอัตราปกติ

ความจริงแล้ว การถูกตัดจีเอสพีอาจมองได้เป็นผลร้าย แต่ถ้ามองให้ดีในระยะยาวอาจเป็นผลดีก็ได้

เพราะจีเอสพีไม่ใช่ยาวิเศษ

ความจริงแล้ว จีเอสพีเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ให้ หรือผู้ได้รับ เนื่องจากจีเอสพีเป็นการให้สิทธิสินค้าบางชนิดจะเสียภาษีนำเข้าต่ำลง ทำให้ประเทศผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าราคาถูกด้วย นอกเหนือประเทศผู้ส่งออกที่สามารถส่งออกสินค้าได้

นอกจากนั้น จีเอสพียังถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและทางการค้า

เริ่มจากด้านการเมือง ที่ต้นกำเนิดของจีเอสพีเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกกลายเป็น 2 ฝั่ง คือ คอมมิวนิสต์ กับเสรีประชาธิปไตย

บรรดามหาอำนาจชาติตะวันตกมองว่าการที่เป็นคอมมิวนิสต์เพราะความยากจน จึงคิดระบบจีเอสพี เพื่อให้บรรดาประเทศด้อยพัฒนาสามารถส่งสินค้าเข้ามา ทำให้มีเงินมีทอง จะได้ไม่เป็นคอมมิวนิสต์

ต้นตอจีเอสพีจึงกลายเป็นเรื่องการเมืองระดับโลก ต่อมาก็กลายเป็นเงื่อนไขทางการค้า ที่มหาอำนาจมักจะเอามาบีบชาติต่างๆ เวลาเจรจาต่อรองผลประโยชน์

ที่สำคัญจีเอสพียังเป็นสิ่งที่มาแล้วก็จากไปได้ โดยไม่ใช่การให้ถาวร อาจถูกตัดสิทธิได้ง่ายๆ

ครั้งนี้ไทยถูกตัดทั้งหมดก็เนื่องจากเงื่อนไขที่ไทยยกระดับฐานจากประเทศรายได้น้อย กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงแล้ว

คิดให้ดีๆ จีเอสพีจึงคล้ายเป็นยาเสพติดด้านการส่งออก ถ้าหวังพึ่งพาก็จะไปไม่ถึงไหน จะส่งแต่สินค้าราคาถูก ได้สิทธิทางภาษี โดยไม่ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน

ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฯลฯ เคยได้จีเอสพีในระยะแรก จากนั้นก็ก้าวข้ามไม่พึ่งพาอีก

ดังนั้น ถ้ายังติดกับดักจีเอสพีอยู่ร่ำไป

ชาตินี้คงไปไม่ถึงไหน