posttoday

SCB แต่งตั้ง "วิรไท สันติประภพ" นั่งกรรมการอิสระ

18 กันยายน 2567

"เอสซีบี เอกซ์ (SCB)" ประกาศแต่งตั้ง "วิรไท สันติประภพ" อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ มีผลตั้งแต่ 17 กันยายน 2567

     นางศิริบรรจง อุทโยภาศ เลขานุการบริษัท บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและมีมติอนุมัติแต่งตั้ง "นายวิรไท สันติประภพ" ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น

     ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายวิรไท สันติประภพ ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของบริษัท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

ประวัติ "วิรไท สันติประภพ"

     อ้างอิงข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า "ดร.วิรไท" ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน สามารถสอบเทียบจากชั้น ม.4 ไปเรียนชั้น ม.6 และสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับเหรียญทองทางด้านวิชาการ 4 เหรียญ ด้านช่วยเหลือกิจกรรมดีอีก 1 เหรียญ ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลตลอดระยะที่เวลาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ในวัยเพียง 18 ปีเศษ จากนั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ ด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปี โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องการเปิดเสรีทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Financial Liberization in Southeast Asia) กับดไวต์ เพอร์คินส์ 

     ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การทำงาน

     เริ่มต้นการทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตันดีซี รับหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและวิกฤตสถาบันการเงิน ที่ครอบคลุมประเทศในเอเชียอย่าง ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา และทำงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารกลางและการดำเนินนโยบายการเงินในมิติต่าง ๆ เมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ได้ลาพักจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทหลักในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินสำคัญ อาทิ มาตรการเพิ่มทุนสถาบันการเงินตามโครงการ 14 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2541 การจัดการสถาบันการเงินที่ถูกทางการแทรกแซง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการมิยะซะวะ รวมทั้งเจรจากต่อรองกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำกัด

     ในระหว่างปี พ.ศ. 2543-2551 ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปฏิรูปองค์กรขนานใหญ่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 อย่างการบริหารสภาพคล่อง การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน การกำหนดนโยบายสินเชื่อ การบริหารเงินลงทุน การจัดการกลุ่มธุรกิจการเงินผ่านบริษัทลูก ๆ ของธนาคาร และยังดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการบริหารความเสี่ยง ของบริษัททุนธนชาต

     ในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2556 ร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ปฏิรูปองค์กร โดยดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ได้ทำแผนพัฒนาตลาดทุนของประเทศ พัฒนางานวิจัยด้านตลาดทุนเชิงลึก ผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับการยอมรับในเวทีตลาดทุนโลกหลายเวที และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน

     ธุรกิจอื่น เป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และกรรมการของบริษัทอักษรเอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

     ดร.วิรไท ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20 สืบต่อจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558