"นายกฯอิ๊งค์" จุดพลุหุ้นไทยทะลุ 100 จุด ... ยืนเหนือ 1400 โอกาส รึ ความเสี่ยง ?
ชัดเจน! "นายกฯอิ๊งค์" ดันดัชนีหุ้นไทยทะลุ 100 จุด กลับมายืนเหนือระดับ 1,400 จุดสำเร็จ สอดรับข่าวดีกองทุนวายุภักษ์และแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาแน่ สวนทางช่วงที่มี "นายกฯ เศรษฐา" จากดัชนีหุ้นยืนเด่นระดับสูงกลับร่วงสู่จุดต่ำ ลดลงกว่า 250 จุด
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!! นับตั้งแต่วันที่ได้ "นายกฯอิ๊งค์" ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น +101.28 จุด คิดเป็น +7.77% มูลค่าการซื้อขาย เพิ่มขึ้น 46,073.88 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) เพิ่มขึ้นถึง 1,252,558.92 ล้านบาท
นับตั้งแต่วันแรกที่ สภาฯเปิดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 16 ส.ค.2567 ซึ่งเป็นไปตามคาด "แพทองธาร ชินวัตร" ได้รับเลือกดำรงตำแหน่ง "นายกฯคนที่ 31" จุดพลุดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดการซื้อขายเพิ่มขึ้น 13.16 จุด แตะระดับ 1,303 จุด คิดเป็น +1.02% มูลค่าการซื้อขาย 35,690.97 ล้านบาท Market Cap. ที่ 16,136,815.26 ล้านบาท
จวบจนล่าสุดวันที่ 5 ก.ย.2567 ดัชนีหุ้นไทยปิดการซื้อขายแตะระดับ 1,404.28 จุด เพิ่มขึ้น +38.79 จุด คิดเป็น +2.84% มูลค่าการซื้อขาย 81,764.85 ล้านบาท Market Cap. ที่ 17,389,374.18 ล้านบาท
ตลอดระยะเวลา 15 วันทำการ (ระหว่างวันที่ 16ส.ค.-5ก.ย.2567) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดสูงสุดที่ 1,404.28 จุด ในวันที่ 5 ก.ย.2567 และ ดัชนีปิดต่ำสุด 1,303 จุด ในวันที่ 16 ส.ค.2567
ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายรวม 15 วัน อยู่ที่ 714,160.19 ล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันราว 47,610.68 ล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายสูงสุด แตะระดับ 81,764.85 ล้านบาท ในวันที่ 5 ก.ย.2567 และต่ำสุด 33,189.68 ล้านบาท ในวันที่ 2 ก.ย.2567
ร่วงต่ำ!
ผิดกับช่วงที่ "เศรษฐา ทวีสิน" เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ในวันแรกตลาดหุ้นไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี ดัชนีปิดการซื้อขายในวันที่ 22 ส.ค.2566 แตะระดับ 1,545.60 จุด เพิ่มขึ้น 19.75 จุด หรือราว 1.29% มูลค่าการซื้อขาย 71,930.58 ล้านบาท Market Cap. ที่ 18,954,667.37 ล้านบาท
จากนั้นด้วยสถานการณ์ต่างๆไม่สู้ดีนัก ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สุดท้ายในวันที่ 14 ส.ค.2567 ทันทีที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยให้ "เศรษฐา ทวีสิน" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" ดัชนีหุ้นไทยร่วงปิดที่ 1,292.69 จุด ลดลง -5.10 จุด คิดเป็น -0.39% มูลค่าการซื้อขาย 53,414.91 ล้านบาท Market Cap. ที่ 16,011,364.86 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่วันแรกที่มีนายกฯเศรษฐา จบจนวันสุดท้ายในบทบาทของนายกฯ พบว่า หุ้นไทยระหว่างวันที่ 22 ส.ค.2566 ถึง 14 ส.ค.2567 ปรับตัวลดลงในทุกด้าน ดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงถึง -252.91 จุด คิดเป็น -16.6% มูลค่าการซื้อขายลดลง -18,515.67 ล้านบาท โดยมี Market Cap. ลดลง -2,943,302.51 ล้านบาท
ตลอดระยะเวลา 239 วัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดสูงสุดที่ 1,576.67 จุด ในวันที่ 30 ส.ค.2566 และ ดัชนีปิดต่ำสุด 1,274.01 จุด ในวันที่ 6 ส.ค.2567
ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายรวม 239 วัน อยู่ที่ 10,475,001.97 ล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันราว 43,828.46 ล้านบาท โดยมูลค่าซื้อขายสูงสุด แตะระดับ 86,353.73 ล้านบาท ในวันที่ 31 ส.ค.2566 และ ต่ำสุดที่ 21,857.77 ล้านบาท ในวันที่ 25 ธ.ค.2566
ถามว่า ตลาดหุ้นไทยจากนี้จะเป็นอย่างไร ?
ความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดการซื้อขายในช่วงเช้าวันนี้ (6 ก.ย.2567) อยู่ที่ 1,426.80 จุด เพิ่มขึ้น 22.52 จุด คิดเป็น +1.60% มูลค่าการซื้อขาย 56,940.90 ล้านบาท โดยดัชนีปรับขึ้นสูงสุด 1,429.27 จุด และลดลงต่ำสุด 1,412.76 จุด
ดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดรับกับที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบ 309 : 155 เสียง โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 จากนี้จะส่งให้ สว. เพื่อพิจาณา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯช่วงกลางเดือน ก.ย.67 ขณะที่การเบิกจ่ายงบปี 2567 น่าจะมีการเร่งอัดฉีดเม็ดเงินออกมาภายในเดือน ก.ย.นี้ก่อนจะสิ้นสุดในไตรมาส 3/67 ซึ่งตัวเลขล่าสุดมีการใช้จ่ายเพียง 50% ของงบประมาณลงทุนทั้งหมด
นั่นหมายความว่า การใช้จ่ายภาครัฐที่ติดหล่มมานานนั้นผ่อนคลายมากขึ้น ความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้นจากความคาดหวังเม็ดเงินลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล "นายกฯอิ๊ง" ที่เร่งดำเนินการ ทั้ง กองทุนรวมวายุภักษ์ และ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เป็นต้น ถือเป็นเชื้อไฟจุดพลังให้ตลาดหุ้นไทยได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะ "กองทุนรวมวายุภักษ์ปี 2567" เข้ามาถูกที่ถูกทางยิ่งนัก หลายฝ่ายต่างคาดหวังเม็ดเงินเริ่มต้นวายุภักษ์ปีนี้จะสูงเทียบเท่าหรือสูงกว่า "กองทุนวายุภักษ์ปี 2546" ที่เริ่มต้นมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์สูงถึง 7 หมื่นล้านบาท หลักๆมาจากสถาบันการเงินต่างๆ 5.1 หมื่นล้านบาท และบุคคลทั่วไป 1.5 หมื่นล้านบาท และอื่นๆอีก 4 หมื่นล้านบาท
วายุภักษ์ปี 2546 เข้ามาเพียง 1 เดือน ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นถึง 19.5% สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่ในปี 2567 คาดมีเม็ดเงินเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาทและทยอยเพิ่มขึ้นระดับ 1 - 1.5 แสนล้านบาท หากเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจคาดหวังได้หรือไม่ว่า ดัชนีจะสามารถพุ่งทะลุปรอทได้มากกว่าปี 2546
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มก่อนตัดสินใจลงทุน!!