posttoday

หลุด1400! จังหวะรับไม้แรก 12 หุ้น พลิก"วิกฤติ"เป็น"โอกาส"

22 ตุลาคม 2566

จังหวะที่ใช่! หุ้นไทยหลุด 1400 จุด โอกาสรับไม้แรก 12 หุ้น เปลี่ยน "วิกฤติ" เป็น "โอกาส" ในแบบฉบับ "กวี ชูกิจเกษม"

หลุด1400! จังหวะรับไม้แรก 12 หุ้น พลิก\"วิกฤติ\"เป็น\"โอกาส\"      ไม่ไหว..อย่าฝืน!

     ในที่สุด ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็หลุด 1,400 จุดเป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่ยื้อมานาน 

     โดยเมื่อวันศุกร์ ที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีปิดที่ระดับ 1,399.35 จุด ลดลง 23.69 จุด หรือคิดเป็น -1.66% มูลค่าการซื้อขาย 52,983.02 ล้านบาท

     การซื้อขายระหว่างวัน ดัชนีขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,422.33 จุด และลดลงต่ำสุดที่ 1,397.80 จุด

     และ มีเพียง "นักลงทุนรายย่อย"เท่านั้น เคาะขวาซื้อสุทธิ 2,283.21 ล้านบาท นักลงทุนนอกจากนั้นขายเรียบ

     โดยหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) อายุ 10 ปีขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 16 ปี หลังจากประธานธนาคารกลางหสรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ด้วยภาวะเงินเฟ้อไต่ระดับสูง ประกอบกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง

หลุด1400! จังหวะรับไม้แรก 12 หุ้น พลิก\"วิกฤติ\"เป็น\"โอกาส\"      "จงเปลี่ยน Crisis เป็น Opportunity ตลาดหุ้นร่วงลงมาแบบนี้จะกลัวอะไร อุตส่าห์ลงมาให้ซื้อแล้ว นี่คือจังหวะรับไม้แรก"

     นายกวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content บล.พาย กล่าวกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า หุ้นไทยร่วงแรงรอบนี้ยังคงคาดว่าดัชนีจะลงไม่ลึกมาก อย่าลืมว่าหุ้นลงมาจาก 1,800 จุด 1,700 จุด ลงมากว่า 300 - 400 จุด

     แต่ถามว่าดัชนีมีโอกาสร่วงลงไปได้อีกหรือไม่ ยอมรับว่าลงได้อีก แต่ไม่อยากให้ลงแล้วรู้สึกกลัว อยากให้ลงแล้วเก็บหุ้น ดัชนีอาจจะลงไปแถว 1,200 จุดก็อาจเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครรู้และไม่อยากบอกว่าจะลงไปถึงจุดไหน เพราะทันทีที่บอกว่าจะลงไปจุดนั้นจุดนี้จนเกิดเป็นความกลัว 

     และ เมื่อเกิดความกลัว นักลงทุนจะรอให้ดัชนีลงไปถึงจุดนั้นก่อนแล้วค่อยซื้อหุ้น แต่ปรากฎว่าหุ้นเด้งขึ้นมาก่อน มันจะกลายเป็นว่าเราเสียโอกาส เหมือนช่วงวิกฤติโควิด-19 พอดัชนีหลุดต่ำกว่า 1,000 จุดแล้วเราบอกว่ารอบนี้ลงไปแตะ 800 จุด แต่สุดท้ายแตะที่ 969 จุดแล้วเด้งกลับ กลายเป็นว่าเราไม่ได้โอกาสนั้น ดังนั้นเราจึงค่อยๆทยอยเก็บไปทีละนิด เก็บไปเรื่อยๆ เพราะตัวบริษัทไม่ได้แย่ พื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน

     ถามว่า..หุ้นตัวไหนน่ารับสำหรับไม้แรก ? 

     หุ้นน่าสนใจก็คือ 1. หุ้นค้าปลีก มองบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL 2. หุ้นโรงแรม มอง บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL 3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

     4. สนามบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT 5. ธนาคาร มอง บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO 6. หุ้นโรงพยาบาล มอง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS

     7. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แต่ราคายังอยู่ระดับสูง 8. ห้างสรรพสินค้า มอง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN 9. บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO

     10. อสังหาริมทรัพย์ มอง บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ราคาลงมาถูกมาก และ 11. บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH 

    ส่วนหุ้นปิโตรเคมีไม่เอา แต่เลือก 12. หุ้นโรงไฟฟ้า มองหุ้นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เพราะราคาร่วงลงมาแรงรับข่าวเรื่องยิลด์พุ่งสูง ลงมาเยอะเหลือ 22 บาท จากตอนนั้นเข้ามาเทรดราคาไอพีโอ 15 บาท ราคาขึ้นไปแตะ 70 บาทแล้วร่วงลงมา 22 บาท ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้ามีเยอะ โครงการรีนิวเอเบิลมีอีกเยอะ ราคาตรงนี้ถือว่าถูก เป็นโอกาสที่ดี

     "ช่วงนี้มองหุ้นกลางๆที่มี opportunity และราคาลงมาแรง เวลาเด้งก็อาจจะเด้งแรง นี่คือหุ้นไม้แรกที่น่าซื้อสะสม แต่นักลงทุนก็ต้องรู้ว่าตัวเองชอบกลุ่มไหนก็พิจารณาเลือกได้ หรือไม้แรกเลือกหุ้นที่ราคาลงมาแรงก่อนหุ้นที่ราคายังไม่ร่วง เป็นต้น"

ถามว่า..รับไม้สองตรงจุดไหนและหุ้นกลุ่มไหนน่าสน?

     อย่างที่บอกว่ามันอาจจะลงไปแถว 1,200 จุดก็ได้ ไม่มีใครรู้หรอก แต่ถามว่ามีโอกาสหรือไม่ ก็มีอยู่แล้วเพราะมองว่าปี 2567 ตลาดหุ้นอเมริกายังไม่น่าจะดี จะเห็นว่าตลาดหุ้นทุกประเทศร่วงลงมาทำนิวโลว์กันหมด เพียงแต่ถ้าดัชนีร่วงลงมาอีกเราต้องทำอย่างไร ซึ่งยังคงมองว่าถ้าลงมาให้เก็บอีกไม้ก็มองหุ้นเดิมที่ซื้อไม้แรก ไม่จำเป็นต้องหาหุ้นใหม่ นอกเสียจากว่าถ้าหุ้นอย่าง WHA ปรับตัวลดลงมาแถว 4 บาทถือว่าน่าสนใจ BDMS ราคาก็ไม่ค่อยลงอาจหาจังหวะย่อทยอยเก็บได้เช่นกัน ขณะที่ CENTEL ราคาไม่ค่อยร่วง ถ้าลงมาต่ำกว่า 40 บาทอาจต้องพิจารณา

     "ไม้สองอาจเพิ่มหุ้นที่ไม้แรกไม่ได้ซื้อเพราะราคาตอนนั้นยังไม่ลงแต่เพิ่งมาปรับตัวลดลงก็ได้ หรือซื้อหุ้นที่รับมาไม้แรกก็ได้ อยากให้นักลงทุนพิจารณาได้เลย"

     ก่อนหน้านี้ โพสต์ทูเดย์ได้สัมภาษณ์คุณกวี เกี่ยวกับกลยุทธ์ช่วงตลาดขาลงเหมาะกับลงทุนแบบไหน? คุณกวีเล่าว่า ตลาดขาลงเชื่อว่านักลงทุนแนวเก็งกำไรน่าจะรู้วิธีเอาตัวรอด Cut loss เรียบร้อย ในภาวะตลาดไซด์เวย์ขาลงแบบนี้ไม่เหมาะการเก็งกำไร โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็ก เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ชัดมากว่า เวลาที่หุ้นกลาง-เล็กมีปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดในช่วงตลาดขาลง แผลมักจะเปิดตอนหุ้นขาลง แต่ตอนขาขึ้นเรื่องบางเรื่องมักจะเงียบ

     ดังนั้นตอนตลาดหุ้นขาลงจึงไม่เหมาะเก็งกำไร หุ้นกลาง-เล็กยิ่งต้องหลีกเลี่ยงในภาวะตลาดแบบนี้ เพราะสภาพคล่องหาย ใครจะเอาเงินมาซื้อหุ้นตัวเล็ก ดังนั้นการเก็งกำไรเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง สุดท้ายหุ้นตัวใหญ่ดีกว่าในสภาวะแบบนี้

     ดังนั้นตลาดขาลงแบบนี้เหมาะกับนักลงทุนระยะยาว นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐาน (Value Investor) อย่างมาก ส่วนตัวชอบมากมักจะซื้อตอนที่ทุกคนกลัว และกลัวตอนที่ทุกคนกล้า แต่อย่าลืมว่า Downside ตลาดหุ้นยังมีอยู่ ดังนั้นจังหวะตลาดลงจึงต้องทยอยซื้อหุ้นพื้นฐานดีเก็บไว้ 

     การแบ่งไม้ซื้อแบบ VI ? ทริคส่วนตัวเวลาตลาดหุ้นปรับตัวลงทีละ 10% ให้แบ่งซื้อ 1 ไม้ แต่การซื้อสะสมขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน สมมุติความเสี่ยงของเรารับความผันผวนของตลาดหุ้นได้ไม่มาก เราอาจจะมีหุ้นในพอร์ต 20-30% กรณีรับความเสี่ยงได้มากอาจจะมีหุ้นในพอร์ตราว 50% ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้แบบสุดจัดปลัดบอก อาจมีหุ้นในพอร์ตได้ 80%