posttoday

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หนุนหุ้นกลุ่มขนส่งมวลชน BEM ได้ประโยชน์มากสุด

12 กันยายน 2566

มุมมองโบรกฯ ต่อนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หนุนผู้โดยสารเข้าระบบมากขึ้น เป็นบวกต่อกลุ่มขนส่งมวลชน ชู BEM เป็น Top pick กลุ่ม หลังได้ประโยชน์มากสุด เหตุมีจุดเชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟฟ้าสายสีแดง-สีม่วง แนะ “ซื้อ” เป้า 10.80 บาท

ตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงถึงนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ว่า เริ่มทำทันทีขั้นตอนเจรจาอาจใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาท ตลอดสาย ทำได้ทันที

สำหรับสายสีแดง (ตลิ่งชัน-รังสิต) และสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ราคา 14-42 บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น 20 บาท เร่งผลักดันภายใน 3 เดือน

ขณะที่สายสีเขียวอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ต้องให้ กทม. เป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุน

ส่วนสายสีส้มจะเชิญ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (เคยคัดค้านผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม) มาให้ข้อมูลอีกครั้ง

นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มองเป็น Positive ต่อกลุ่มขนส่งมวลชน (Mass Trans) จากนโยบายดังกล่าวจะสนับสนุนให้มีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกๆ สาย ส่วนค่าโดยสารของผู้ประกอบการเอกชนจะได้รับความคุ้มครองจากสัญญาสัมปทานเดิม (สายสีเขียวสิ้นสุดปี 2572 และสายสีน้ำเงินสิ้นสุดปี 2593) ภาครัฐคงต้องจ่ายส่วนต่างราคาค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการเอกชน (ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชน)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว น้ำเงิน และส้ม ที่บริษัทเอกชนเป็นผู้ได้สัมปทานอาจใช้เวลาเจรจานานกว่าการดำเนินนโยบายกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการ

ทั้งนี้ หากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย กับสายสีแดง และสายสีม่วง เกิดขึ้นได้เร็ว ตามเป้าหมายของ รมว.คมนาคม มองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ด้วย ที่มีโอกาสที่ผู้โดยสารจะเข้าระบบมากขึ้น ขณะที่มองรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีโอกาสได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะมีจุดเชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ และมีจุดเชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน

ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินงบประมาณส่วนต่างที่ใช้สำหรับสายสีแดงและสีม่วงไม่สูงมาก มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเร็ว จากปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงและสีม่วง อยู่ที่ราว 25,000 คน/วัน และ 60,000 คน/วัน ตามลำดับ หากอิงกับราคาค่าโดยสารเฉลี่ยของรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีน้ำเงิน อยู่ที่ราว 30 บาท เท่ากับว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนส่วนต่างราว 850,000 บาท/วัน หรือประมาณ 300 ล้านบาท/ปี 

ส่วนกรณีสายสีส้ม ยังคงมองเป็นประเด็น Overhang ต่อ BEM ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ผลการพิจาณาของคดีที่ยังเหลืออยู่ที่ศาล 2 คดี (อยู่ที่ชั้นศาลปกครองสูงสุดและศาลอาญา) 2.การประชุมร่วมระหว่าง รมว.คมนาคม และ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ 3.มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณาดำเนินการว่าจะเดินหน้าตามกระบวนการประมูลเดิม หรือจะล้มการประมูลเดิมและเปิดประมูลใหม่

ทั้งนี้ คงน้ำหนัก Bullish กลุ่ม Mass Transit จาก 1.คาดผลประกอบการฟื้นแกร่งต่อเนื่อง คาดกำไรสุทธิปี 2566 ของ BEM ที่3,323 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36%YoY และคาดกำไรปกติปี 2567 (เม.ย.2566-มี.ค.2567) ของ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF ที่ 4,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% YoY 

2.สถิติใช้บริการรถไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีใหม่ๆ ได้แก่ สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หนุนคนเข้าระบบรถไฟฟ้าเส้นหลัก และ 3.คาดโครงการต่างๆ ที่เป็น Overhang กลุ่มฯ จะคลี่คลายลง หลังได้รัฐบาลใหม่มาเดินหน้าโครงการต่อ

ดังนั้น เลือก BEM (Buy, ราคาเป้าหมาย 10.80 บาท และหากไม่รวม รถไฟฟ้าสายสีส้ม ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 9.45 บาท) เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่มฯ จากมีโอกาสเติบโตจากโครงการต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ทางยกระดับขั้นที่สอง (Double deck) และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เป็นต้น และมอง BTSGIF (Buy, ราคาเป้าหมาย 5.20 บาท) มีความน่าสนใจจากผลการดำเนินงานมั่นคงและคาดให้ผลตอบแทน IRR กว่า 20% (คาด BTSGIF จ่ายผลตอบแทน (เงินคืนทุน) ปี 2567-สิ้นสุดสัมปทาน (ธ.ค.2572) รวม 7.13 บาท)