posttoday

รายย่อย STARK ยื่น ก.ล.ต.-ตลท. เร่งคดี ฟาก TIA ช่วยค่าทนายฟ้องแพ่งแบบกลุ่ม

11 กรกฎาคม 2566

ผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK ยื่นหนังสือ ก.ล.ต.-ตลท. เร่งดำเนินคดี ยกเคสต่างประเทศทำหน้าที่เรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดชดใช้ให้กับนักลงทุนได้โดยตรง ด้าน TIA ช่วยค่าทนายฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายให้ 1,759 ราย ที่ร่วมกันดำเนินคดีแบบกลุ่ม

วันนี้ (11 ก.ค.) ตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้นสามัญ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยื่นหนังสือต่อ นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายสื่อสารองค์กร กับ นางสิริพร จังตระกูล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และผู้แทนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 

ทั้งนี้ เพื่อแสดงความชื่นชมต่อ ก.ล.ต. ในการเร่งดำเนินคดีและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็ขอติดตามและเร่งรัดให้ ก.ล.ต. ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างไม่ชักช้า 

โดยกลุ่มผู้เสียหายมีความเห็นว่า การกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลทั้ง 10 ราย เข้าข่ายความผิดหลายมาตราของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการใช้มาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กลุ่มผู้เสียหายจึงขอเรียกร้องให้ ก.ล.ต. ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งขั้นสูงสุด พร้อมทั้งขอคำแนะนำถึงช่องทางที่ ก.ล.ต. จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ลงทุนรายบุคคลเหล่านี้

หลังจากที่ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษดำเนินคดีบุคคลและนิติบุคคล รวม 10 ราย ต่อ DSI ว่าได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ลงบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความจริง ในปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ ให้เข้าใจผิดในผลประกอบการ และแผนงานของ STARK ซึ่งเข้าข่ายความผิดหลายมาตราตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 

และต่อมา ก.ล.ต. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบุคคลทั้ง 10 ราย เป็นเวลา 180 วัน เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดที่ก่อความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้างและมีพฤติการณ์ที่ควรเชื่อได้ว่า ผู้กระทำผิดจะยักย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินไป

สำหรับการมาพบผู้บริหารของ ก.ล.ต. และ ตลท. ในวันนี้ กลุ่มผู้เสียหายยังขอแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ ก.ล.ต. และ ตลท. ใช้วิกฤตความเชื่อมั่นในตลาดที่เกิดจากการกระทำเพียงบุคคลกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง แต่สามารถสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อตลาดทุน ซึ่งถือเป็นเสาหลักหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้เป็นบทเรียนและใช้เป็นโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดในการกำกับดูแล ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในตลาดทุนในปัจจุบัน เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น โปร่งใส และธรรมภิบาล ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

ตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดของ ก.ล.ต. ไทย ที่ไม่สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิด แทนผู้ลงทุนที่เสียหาย เพื่อให้สามารถเรียกเงินชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนที่เสียหายได้โดยตรง เช่นเดียวกับตลาดทุนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น (อ้างอิง ดุษฎีนิพนธ์การบังคับใช้กฎหมายในความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย คุณเฉลียว นครจันทร์ และ คุณนิติ ผดุงชัย หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น https://so04.tci-thaijo.org/index.php/svittj/article/download/241208/165733/842722)

นอกจาก 2 หน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดทุน แล้ว  ในวันนี้ กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ต่อนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ช่วยสนับสนุนช่วยเหลือการดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) โดยยังคงเป็นศูนย์กลางรวมผู้เสียหายต่อไป และช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง เช่น ค่าทนายความ และค่าดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ราบรื่น และประสบความสำเร็จ จนสามารถเรียกร้องความยุติธรรมและเยียวยาผู้เสียหายได้ในที่สุด

โดยที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากสมาคมฯ ที่ช่วยกรุณาเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผู้เสียหาย มีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนรวม 1,759 ราย

นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวยืนยันว่า ก.ล.ต. มีขอบเขตอำนาจตามกฏหมายกำหนด ที่ผ่านมาได้พยายามตรวจสอบหาหลักฐานอย่างเต็มที่ หากพบกระทำผิดเข้าข่ายมาตราใด จะดำเนินการถึงที่สุด การดำเนินการใดๆ ต้องมั่นใจในพยานหลักฐาน บางครั้งอาจต้องใช้เวลา ยอมรับว่ากรณี STARK สร้างความเสียหายให้ตลาดทุนอย่างมาก และจะพยายามตรวจสอบเอาผิดให้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจะผลักดันให้มีการทบทวนแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. (ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่แล้ว) ให้มีมาตรการป้องกันและบทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้น

ทางด้าน นางสิริพร จังตระกูล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า การที่กลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญของ STARK ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับความเสียหายกว่า 1,759 ราย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง TIA เพื่อขอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) อาทิ ค่าวิชาชีพทนายความ ฯลฯ ตลอดจนค่าดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้เสียหายได้สูญเสียเงินลงทุนและหรือเงินออมไปเป็นจำนวนมากแล้ว และเพื่อให้การดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม ดำเนินไปตามลำดับได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น และประสบความสำเร็จในที่สุด ซึ่งจะเป็นการเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ลงทุนรายบุคคล

"ผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนรายบุคคลเข้าลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,759 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากรณีนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนรายบุคคลจำนวนมากและเป็นวงกว้าง" 

ทั้งนี้ ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยรับพิจารณาในการดำเนินการ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามที่ตัวแทนผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK ร้องขอมาเป็นลำดับไป