posttoday

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท! กดกำไร บจ. วูบ 1.57 หมื่นล้าน

25 มิถุนายน 2566

ทุกๆ การขึ้นค่าแรง 10% ส่งผลต่อกำไร บจ. ลดลง 4,250 ล้านบาท ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 27-37% จากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน กระทบกำไร บจ. ลดฮวบ 11,475-15,725 ล้านบาท

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2566 ปิดตลาดที่ 1,505.52 จุด ปรับลดลง 3.79 จุด หรือปรับลดลง 0.25% มูลค่าการซื้อขาย 33,566.66 ล้านบาท ระหว่างวันหลุด 1,500 จุด โดยขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 1,510.42 จุด และลงไปต่ำสุดที่ 1,485.82 จุด 

สำหรับการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยสะท้อนถึงความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น จะเห็นได้จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครบ 500 คน และล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2566 เป็นต้นไป

ดังนั้น ทำให้มีโอกาสที่จะได้เห็นนโยบายต่างๆ ของพรรคก้าวไกลที่ได้หาเสียงไว้ เริ่มทยอยออกมาหลังการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ “โพสต์ทูเดย์” ได้หยิบยกบทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ถึงนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก 

โดย บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า นโยบายหลักของพรรคก้าวไกลในฐานะที่มีโอกาสเป็นพรรคแกนนำ แบ่งเป็น 2 ส่วน 

กลุ่มที่ 1 นโยบายที่จะผลักดัน 100 วันแรกของการเป็นรัฐบาล

  • ประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค
  • ค่าไฟแฟร์ (ลดค่าไฟฟ้า)
  • หลังคาสร้างรายได้เปิดเสรี Solar Cell ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน
  • ลดค่าใช้จ่าย SME ในส่วนภาษี
  • หวยใบเสร็จ
  • ปรับค่าแรง 450 บาท ทันที
  • เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุ 3,000 บาท ตรวจสุขภาพประจำปี (รัฐสวัสดิการ) โดยมองอาจนำมาสู่นโยบายเพิ่มภาษีด้านต่างๆ
  • กำหนดเพดานก๊าซเรือนกระจก และเปิดตลาดแลกเปลี่ยน
  • รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด และเพิ่มขนส่งสาธารณะ

กลุ่มที่ 2 นโยบายอื่นๆ ที่ไม่รวมอยู่ในกลุ่มผลักดัน 100 วัน

  • สุราก้าวหน้า
  • ผลักดัน Soft Power
  • การปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงาน
  • ลดอิทธิพลของกลุ่มทุนผูกขาด

ส่องผลกระทบนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท  

ในส่วนของนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท นั้น บล.กรุศรี พัฒนสิน ประเมินว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน โดยประเมินเชิงลบ คือ ทุกๆ การปรับขึ้นค่าแรงจากเดิม 10% จะ Downside ต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนลดลงประมาณ 4,250 ล้านบาท 

แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 328-354 บาท หากมีการปรับค่าแรงขึ้นเป็น 450 บาท/วัน เท่ากับค่าแรงจะเพิ่มขึ้น 96-122 บาท/วัน หรือ 27-37% จากอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน

ดังนั้นจากการประเมินส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนของ บล.กรุศรี พัฒนสิน ดังกล่าว “โพสต์ทูเดย์” นำมาคำนวณแล้ว พบว่า หากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาท/วัน จะส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนถึง 11,475-15,725 ล้านบาท

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท! กดกำไร บจ. วูบ 1.57 หมื่นล้าน

แม้กำไรที่ลดลงดังกล่าว จะคิดเป็นไม่ถึง 2% ของกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 974,759 ล้านบาท แต่เมื่อดูในเชิงมูลค่าก็ถือว่าไม่น้อย!!  

นอกจากนี้ บล.กรุศรี พัฒนสิน ยังประเมินว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ โดยทุกๆ การปรับขึ้นค่าแรงจากเดิม 10% Upside Risk เงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.27% หากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 450 บาท จะเพิ่มขึ้น 33.5% จากฐานค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ประเมิน Upside Risk เงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.9%

ขณะที่ ผลกระทบต่อ SET จากการปรับขึ้นค่าแรงในอดีต ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราสูงเกิดขึ้นในปี 2554 พบว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้ตอบรับเชิงลบ แต่กลับตอบรับในเชิงบวก เนื่องจากแม้จะเป็นการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด แต่มาพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือทางภาษี 

ผลกระทบต่อ Fund Flow ผลบวกของการออกนโยบายรอบด้านในปี 2554 (เพิ่มค่าแรง แต่ลดภาษีนิติบุคคล) สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต จะเป็นน้ำหนักหลักของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศมากกว่า

ส่วน ผลกระทบต่อการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราสูงเกิดขึ้นในปี 2554 การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วงปี 2555 ยังมีความต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากการสนับสนุนการลงทุนและการลงทุนเครื่องจักรใหม่ รวมถึงความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานที่มีน้ำหนักมากกว่าช่วงที่ขาดหรืออยู่ระหว่างลงทุน

อิงโครงสร้างพื้นฐานไทยปัจจุบันที่จะเกิดขึ้นจำนวนมากในสมัยรัฐบาลใหม่ เชื่อว่าสามารถคาดหวังได้ แต่ต้องติดตามความชัดเจนแผนผลักดันการลงทุนภายใต้แกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่เบื้องต้นกำหนดแผนลดเงินอุดหนุน BOI และออกนโยบายส่งเสริมเป็นรายๆ ไป

โดยอุตสาหกรรมที่กระทบสูง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน, รับเหมาฯ, ร้านอาหาร, โรงแรม และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีโอกาสได้ประโยชน์ คือ เช่าซื้อ, ติดตามหนี้, เครื่องดื่ม และเทคโนโลยี (ICT, Digital Tech Consult)