DEBT CEILINGใกล้เส้นตาย-รัฐบาลใหม่ฉุดโฟลว์ไหลออก โบรกผ่าทางรอดลงทุนหุ้น
ข่าวร้ายรุมเร้า! DEBT CEILING ใกล้เส้นตายสัปดาห์หน้า-กนง.ไร้แววจบรอบ ดบ.ขาขึ้น-หวั่นนโยบายรัฐบาลใหม่ ฉุด Fund Flow ต่างชาติ เดือน พ.ค.66 ไหลออก 3.3 หมื่นล้าน โบรกจัดให้ 30 หุ้นต่างชาติซื้อ-ขายมากสุด ชูกลยุทธ์ 15 หุ้นแรงซื้อหนุน
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แม้ความคืบหน้าประเด็น Debt Ceiling ค่อยๆคลี่คลายลง หลังสภาล่างผ่านโหวตมติกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วย 314-117 เสียง แต่มติดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังสภาบน (สภา ส.ว.) ตาม Timeline คาด สว.จะเจรจากันให้จบภายในศุกร์นี้(2 มิ.ย.66)เพื่อทำการโหวตในวันที่ 5 มิ.ย.66 และหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ลงนามเป็นกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งจากแหล่งข่าวใน Bloomberg คาดสหรัฐฯจะขยายเพดานหนี้ 1 Trillion USD สู่ 32.28 Trillion USD
ขณะที่ตัวเลขเปิดรับสมัครงาน(Job Opening)ออกมาสูงกว่าคาด อยู่ที่ 10.1 ล้านตำแหน่ง(สูงสุดในรอบ 3 เดือน)เช่นเดียวกับ อัตราส่วนการเปิดรับสมัครงานต่อจำนวนแรงงาน อยู่ที่ 1.79 ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (บริษัทเปิดรับสมัครงาน 1.79 ตำแหน่งงานต่อจำนวนแรงงาน 1 คน) สะท้อนว่าโอกาสที่ค่าจ้างแรงงานราย ช.ม. (Wage Hour) จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนดอกเบี้ยและเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูงยาวนานขึ้น ประเด็นดังกล่าว ทำให้นักลงทุนยังคงกังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมรอบเดือน มิ.ย.66 โดยการสำรวจของ Fed Watch Tool เผยว่ามีโอกาสสูงถึง 72% ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ 5.50% ซึ่งในช่วงต้นเดือน ตลาดคาดว่า Fed จะยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้วในรอบประชุมดังกล่าว
ทั้งนี้ความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เริ่มร้อนแรงต่อเนื่อง หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่าง Job Opening ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ประเด็น Debt Ceiling แม้ผ่านการโหวตจากสภาล่าง (สส.) แต่ขั้นตอนต่อไปต้องนำเรื่องสู่สภาบน (สว.) เพื่อผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่การจ่ายหนี้ก่อนแรก จะเริ่มขึ้นวันจันทร์หน้า ด้วยประเด็นทั้งหมด สร้างความกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นช่วงสั้นรวมถึงไทยที่วันนี้คาดกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index 1520-1545 จุด
ไม่จบรอบขาขึ้น ดบ.
วานนี้(31 พ.ค.66) กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2% เพื่อให้สอดคลองกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้ 1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีโดยยังคงคาดการณ์ GDP ปี 66-67 ไว้ที่ +3.6%YoY และ +3.8%YoY ตามลำดับ หลักๆมาจากภาคการท่องเที่ยวโดยได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 28 ล้านคน เป็น 29 ล้านคน ซึ่งจะเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4% (เดิม 4.0%)
2.การส่งออกค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะในช่วง 2H66
3.การระดมทุนภาคเอกชนไม่ได้เป็นอุปสรรค แม้ภาวะการเงินจะตึงตัวมากขึ้น
4.อัตราเงินเฟ้อระยะถัดไปมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจาก Demand ที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจ การส่งผ่านต้นทุนที่ยังไม่หมด บวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ อีกทั้ง เงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และอาจใช้เวลานานในการปรับตัวลดลง รวมถึงมีความเสี่ยงสูงจาก Demand
ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะถัดไป กนง. เผยว่าจะไม่อิงตามธนาคารกลางต่างประเทศ แต่จะขอพิจารณาจากข้อมูลที่เข้ามาหลังจากนี้ บวกกับภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ทั้งนี้ กนง. ไม่ได้ส่งสัญญาณที่แน่ชัดในการปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหากดอกเบี้ยยังขยับขึ้นต่อเนื่อง จะสร้างแรงกดดันต่อ SET Index เนื่องจากทำให้ Market Earning Yield Gap แคบลง ลดแรงดึงดูด Fund Flow ไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง แต่ยังมีหุ้นได้ Sentiment เชิงบวกจากแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่าง CRC CPALL COM7 AOT CENTEL MAJOR KTB KBANK
อย่างไรก็ดี กนง. มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2% สอดคล้องเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินระยะถัดไปจะพิจารณาจากข้อมูลและภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศในช่วงเวลานั้นๆ หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ อาจจะสร้างแรงกดดันต่อ SET Index ขณะเดียวกันยังต้องติดตามสภาวะทางการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด หลังดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน เม.ย. พลิกขาดดุล ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
30หุ้นต่างชาติซื้อ-ขายสูงสุด
ภายในเดือน พ.ค.66 ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.29% ปิดที่ระดับ 1533.54 จุด ซึ่งตลอดเดือนที่ผ่านมามีปัจจัยที่ทำให้ตลาดผันผวน ทั้งการเจรจาเพื่อขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ และการเลือกตั้งในไทย ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นมีความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อ SET Index ทั้งด้านบวกและลบ
หากพิจารณาหุ้นที่ต่างชาติซื้อ-ขายมากสุดในเดือน พ.ค.66 มีรายละเอียด ดังนี้ 1.หุ้นที่ถูกขายสุทธิคือ หุ้นขนาดใหญ่ที่ธุรกิจมีอาจเข้าข่ายผูกขาด หรือสัดส่วนรายได้เยอะกว่าคู่แข่งในกลุ่ม อาทิ AOT CPALL MAKRO PTTEP CPN LH CPF เป็นต้น
ขณะที่ หุ้นที่ถูกซื้อสุทธิคือ หุ้นกลาง-ใหญ่ที่มีรายได้ในประเทศเป็นหลัก และ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์, หุ้นท่องเที่ยว อาทิ KBANK BBL MINT SCC BH CK WHA เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม Fund Flow ต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค.66 ราว 3.3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลในการเปลี่ยนผ่านนโยบายรัฐบาลใหม่ ดังนั้นกลยุทธ์เน้นหุ้นที่ต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง อย่าง GULF หุ้นขนาดใหญ่ที่กำไรเติบโตเป็นขั้นบันได, CRC และหุ้นขนาดใหญ่ที่ผันผวนต่ำ ปันผลสูง KTB เป็น Toppicks