posttoday

หุ้น TRUE ปิดตลาดวันแรก 8.60 บาท ต่อหุ้น

03 มีนาคม 2566

TRUE ปิดตลาดการซื้อขายหลักทรัพย์วันแรกหลังควบกิจการเป็น ทรูฯ ราคาอยู่ที่ 8.60 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาเปิดในช่วงเช้าอยู่ที่ 8.35 บาทต่อหุ้น

วันนี้ (3 มี.ค. 2566 ) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ว่า TRUE เข้าซื้อขายหุ้น (เทรด) วันแรกจากการควบรวมกิจการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีราคาเปิดตลาดซื้อขายในวันแรกหุ้นละ 8.35 บาท  ขณะที่ราคาปิดตลาดซื้อขายอยู่ที่หุ้นละ 8.60 บาท

 

หุ้น  TRUE ปิดตลาดวันแรก 8.60 บาท ต่อหุ้น

 

ทั้งนี้  บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว จำนวน 138,208,403,204 บาท และจัดสรรหุ้นสามัญจำนวนทั้งสิ้น 34,552,100,801 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาท รายได้รวมอยู่ที่ 218,205.37 ล้านบาท ขาดทุน 5,913.54 ล้านบาท 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาหุ้นจะอยู่ที่หุ้นละ 10 บาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้น TRUE ใหม่ ประเมินราคาเป้าหมายกรณี Base case ได้ที่ 10.40 บาท ซึ่งรวม Synergy ที่จะเกิดจาก 1) CAPEX ที่ซ้ำซ้อนลดลง 15% 2) SG&A/sales ลดลงจาก 18.2% เป็น 17.1% ตีออกมาเป็น Synergy ที่ 0.94 บาท/หุ้น ส่วนหากคิดในกรณีที่ดีสุด (Best-case) จะได้ 3.60 บาท/หุ้น

 

ทั้งนี้ หลังจากรวมเข้าด้วยกัน Market Share จะเป็นเบอร์ 1 ราว 54% และมี Upside จากการทำ Cross-sell/Up-sell กัน ทั้งในแง่ของ Package เพื่อเพิ่มบริการ-ARPU ขึ้นอีก และการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานทั้งด้าน IT และช้อปบริการที่ซ้ำซ้อน 

 

ทั้งนี้ หากสมมติว่ารวมกำไร DTAC เข้าตั้งแต่ 1 มี.ค. เราคาดว่าปี 2023 TRUE ยังจะมีผลขาดทุนสุทธิ 1.15 พันล้านบาท ก่อนพลิกเป็นกำไรราว 1.42 พันล้านบาทในปี 2024 และเติบโตเรื่อยๆ ไปสู่ 6.19 พันล้านบาทในปี 2033 (ในอีก 10 ปีข้างหน้า) ตามประมาณการของเรา

 

ขณะที่บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ แนะ “ซื้อ” หุ้น TRUE ซึ่งเกิดจากการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 10 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 8.40 บาท หลังจากปรับเพิ่มประมาณการกำไรจากสมมติฐาน ARPU สูงขึ้น

 

ธีมการลงทุน ได้แก่ มุมมองที่เป็นบวกต่อกลุ่มเพราะคาดว่าการแข่งขันจะลดลงจากปีนี้ไป และ TRUE ในฐานะบริษัทใหม่จะมีกำไรตั้งแต่ต้น และกำไรจะมากกว่าบริษัทเก่าสองบริษัทรวมกันอย่างมาก EV/EBITDA ปี 2023 ที่ 8.7x จะลดลงอีกจากกลยุทธ์การประหยัดต้นทุนที่บริษัทประกาศออกมา

 

เนื่องจากธุรกิจที่มีผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ทำให้ TRUE ไม่จำเป็นต้องใชนโยบายการตัดราคาเพื่อให้ได้ลูกค้าเพิ่มอีกหลังควบรวม เพราะจะเหลือผู้เล่นหลักในตลาดมือถือ และ Fixed Broad Band (FBB) เพียงสองรายเท่านั้น คือ TRUE และ ADVANC ซึ่งความสามารถในการให้บริการลูกค้าจะไม่แตกต่างกันมากเหมือนในอดีต ดังนั้น บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคามาแข่ง หมายความว่า ARPU จะดีขึ้นในระยะยาว

 

นอกจาก TRUE จะมีกำไรตั้งแต่ปีแรกหลังควบรวมแล้ว กำไรยังจะมากกว่ากำรวมจากสองบริษัทที่ดำเนินการแยกกันอีก โดยกำไรที่จะมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพราะ ARPU ดีขึ้น และการลดต้นทุน โดยเฉพาะค่าเสื่อมราคาที่เกิดจากการ write-down สินทรัพย์เพื่อลดสินทรัพย์ที่ซ้ำซ้อนกัน

 

TRUE จัดทำงบการเงินแบบ pro forma ในส่วนของงบดุล และงบกำไรขาดทุนของบริษัทหลังควบรวมย้อนไปถึงปี 2564 และ 2565 สิ่งที่เราพบจากงบ pro forma คือ COGS อยู่ที่ปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่ประเมินเบื้องต้นเอาไว้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะผลกระทบจากค่าเสื่อมราคาที่ลดลงจากการ write-off สินทรัพย์ที่รับรู้ทั้ง DTAC และ TRUE ก่อนควบรวม ถึงแม้การลดค่าเสื่อมราคาจะไม่กระทบกับสถานะกระแสเงินสดของ TRUE แต่ก็ช่วยหนุนสภาวะของ TRUE ในแง่ของกำไรที่จะเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เริ่มควบรวม

 

ทั้งนี้ สมมติฐานที่เปลี่ยนไปอย่างแท้จริงคือ ARPU โดยเราปรับเพิ่มสมมติฐาน ARPU ของบริการมือถือจาก -3% เป็นทรงตัวในปี 2566 และ 2567 ดังนั้น เราจึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2566-2567 ขึ้นอีก 20% ซึ่งเมื่ออิงตามประมาณการใหม่ เราคาดว่ากำไรจากธุรกิจหลักของ TRUE จะอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาทในปี 2566 (+347% yoy) และจะอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาทในปี 2567 (+6.5% yoy)
ทั้งนี้ ประมาณการปี 2566 ของเรายังไม่ได้สะท้อนถึงการประหยัดต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังควบรวม โดยเราจะรอฟังข้อมูลจากบริษัทก่อนจึงค่อยปรับประมาณการของเราอีกครั้ง