posttoday

3 กูรู หลากมุมค้านเก็บภาษีค้าหุ้น ทำต่างชาติหนีดึงสภาพคล่องร่วง

22 ธันวาคม 2565

3 กูรู ทั้งสายวิชาการ นักลงทุน และโบรกเกอร์ ต่างค้านเก็บภาษีค้าหุ้น เพราะทำให้สภาพคล่องร่วงจากนักลงทุนต่างชาติหนีไปเพื่อนบ้าน คาดไม่น่าดึงรายได้เข้ารัฐถึง 1.6 หมื่นล้านเช่นกระทรวงคลังฯ หวัง แต่อาจสูงสุดเพียง 1 หมื่นล้าน หรือเท่ากับได้ไม่คุ้มเสีย

จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้จริงในปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ซึ่งนับจากประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว หรือมีระยะเวลาให้ปรับตัว 90 วัน โดยกำหนดให้ในปีแรกหลังกฎหมายบังคับใช้ จะให้เก็บภาษีในอัตรา 0.05% ก่อน จากนั้นจะเก็บในอัตราปกติ  0.1% เพราะเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ให้ทางบริษัทหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์เป็นผู้จัดเก็บให้ เพราะต้องเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตามการยกเว้นภาษีจากการขายหุ้น ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2534 หรือยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหากกลับมาจัดเก็บ กระทรวงการคลังคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 16,000 ล้านบาท

 

หลังจากมติดังกล่าวได้เผยแพร่ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ปัจจุบันเริ่มมีบุคคลในแวดวงตลาดทุนและภาคเอกชน ต่างออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะไปในทางไม่เห็นด้วยและเสนอให้ภาครัฐทบทวนในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการจัดเก็บ ช่วงเวลาที่เริ่มจัดเก็บ หรือแม้แต่ให้คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ 

 

ทั้งนี้ในงานสัมมนา FETCO Capital Market Outlook "ภาษีขายหุ้น….คุ้มหรือไม่?" ได้มีผู้เชี่ยวชาญหรือกูรูจากแวดวงต่าง ๆ ทั้งสายวิชาการ นักลงทุน และโบรกเกอร์มาให้มุมมอง เริ่มจาก ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ยืนยันว่าการเก็บภาษีดังกล่าวมีแต่ข้อเสียและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

 

เนื่องจาก จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในแง่ศักยภาพการแข่งขันกับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทุกวันนี้ไทยยังมีศักยภาพในการดึงดูดสภาพคล่องหรือเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ดีกว่า เพราะไม่ได้มีการเก็บภาษีขายหุ้น อีกทั้งในความเป็นจริงการค้าหุ้นในไทยเองก็มีการเก็บภาษีตัวอื่นอยู่แล้ว เช่น ภาษีเงินปันผล 

 

นอกจากนี้ ดร.นณริฏ ยังมองว่าหากภาครัฐต้องการหายรายได้เพิ่ม ก็ควรไปเก็บภาษีประเภทอื่นแทน เช่น ภาษีที่ดิน ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อตลาดทุน และยังเป็นภาษีที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ที่น่าจะจัดเก็บจากคนรวยที่มีการถือคลองที่ดินถึง 1 ใน 4 ของทั้งประเทศมากกว่า 

 

ตัวแทนจากทีดีอาร์ไอยังให้ความเห็นอีกว่า ตลาดหุ้นไม่ใช่ตลาดของคนรวย แต่เป็นแหล่งโอกาส สำหรับคนรุ่นใหม่ในฐานะต่าง ๆ ที่จะได้ลืมตาอ้าปาก จากการไขว่คว้าความสำเร็จในตลาดหุ้นหรือเปลี่ยนชีวิต หากทำกำไรจากเทรดหุ้นได้ก่อน เช่นเดียวกับมองว่าตลาดทุนยังเป็นช่องทางสำคัญให้คนได้เก็บออม เพื่อมีเงินใช้ในยามเกษียณ ทั้งในแง่การลงทุนด้วยตัวเองหรือผ่านกองทุนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ตาม 

 

ขณะที่ตัวจริงในตลาดหุ้นอย่างดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในฐานะนักลงทุนนั้น ให้ความเห็นว่าการเก็บภาษีนี้เหมือนกับการถอนขนห่านที่ไข่เป็นทองคำออกไปขาย นั่นคือได้เงินกลับมาเพียงเล็กน้อยแต่สร้างความเสียหายหรือผลกระทบต่อตลาดทุนมากกว่า เพราะหากถอนขนออกไปมาก ๆ แทนที่จะขุนให้ห่านอ้วน เพื่อจะได้ออกไข่ทองคำมามาก ๆ ก็อาจทำให้ห่านทนไม่ไหวจนอาจตายได้เลย เปรียบเหมือนตลาดหุ้นไทยเริ่มอยู่ไม่ไหว จากที่นักลงทุนหายไปหรือไม่มีบริษัทสนใจจะมาระดมทุนแล้ว

 

รวมถึงได้ฉายภาพการพัฒนาตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาอีกว่า กว่าที่ตลาดหุ้นไทยจะมาถึงวันนี้จนเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่น ๆ ได้นั้น เพราะมีการส่งเสริมจากฝ่ายต่าง ๆ จนทำให้มีทั้งบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีศักยภาพมาจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน และมีสภาพคล่องสูงจากที่มีนักลงทุนเป็นต่างชาติถึง 50% ที่เข้ามาซื้อขายหุ้น ซึ่งทำให้วันนี้ตลาดหุ้นแทบจะเป็นกลไกเดียวที่ยังพยุงเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้ 

 

ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะจัดเก็บภาษีค้าหุ้น ซึ่งแม้ว่าตอนนี้อาจยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ถ้าอนาคตคนในตลาดหุ้นเริ่มถอยออกหรือไม่อยากเทรดหุ้นแล้ว ตลาดอาจจะประสบปัญหาได้ เช่น valuation หรือมูลค่าหุ้น ลดลง หรือบริษัทต่าง ๆ ไม่อยากมาระดมทุนออก IPO แล้ว ก็เท่ากับการพัฒนาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจะหดหายไปด้วย

 

"ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องภาษีอยู่ เพราะคุณแพ้ด้านอื่น แต่ถ้าคุณทำเหมือนกับประเทศอื่น ก็เท่ากับแพ้ทุกด้าน"

 

สำหรับมุมมองของตัวกลางในฐานะตัวแทนฝั่งโบรกเกอร์ นั้น  นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า แม้นโยบายเก็บภาษีค้าหุ้นไม่ได้กระทบโดยตรงกับผู้ระดมทุน แต่กระทบกับผู้ลงทุน ที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น

 

เพราะอัตราภาษีที่จะเก็บจากการค้าหุ้นนั้นสูงกว่าค่าธรรมเนียมซื้อขายปกติที่จ่ายอยู่ตอนนี้ หรือที่ราว 0.30% ต่อรายการ  แต่หลังจากนี้เมื่อภาครัฐจะเก็บภาษีขายหุ้น จึงเท่ากับทำให้ต้นทุนเพิ่มกว่า 200% หรือจ่ายเพิ่มเป็น 0.85% ต่อรายการ ซึ่งจากกรณีนี้ทางบริษัทได้ทำการสำรวจโดยพูดคุยกับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่ปัจจุบันครองอัตราส่วนการซื้อขายหุ้นถึง 50% ที่เกือบทั้งหมดต่างยืนยันว่าคงรับไม่ไหหวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ 

 

"ที่ตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งระดมทุนระดับภูมิภาคได้ เพราะเรามีสภาพคล่องที่สูงมากสุดในอาเซียน ซึ่งสภาพคล่องถึง 50% มาจากฝั่งต่างชาติ ถ้าต้นทุนเพิ่มขนาดนี้คงทำให้นักลงทุนหายแน่"

 

นายไพบูลย์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า นโยบายนี้ให้ความสำคัญกับตัวเลขรายได้จากการเก็บภาษีมากกว่าคำนึงถึงผลกระทบในอนาคต เช่น เรื่องสภาพคล่องที่จะหายไป จากที่นักลงทุนจะโยกเงินไปตลาดอื่นแทนที่ต้นทุนถูกกว่า นอกจากนี้หากสภาพคล่องในตลาดหุ้นหายไปแล้ว ต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าที่จะฟื้นกลับมาได้ ดังกรณีตลาดหุ้นของอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันเก็บภาษีขายหุ้นแล้ว แต่ไม่ได้เก็บภาษีเงินปันผล ก็ทำให้สภาพคล่องน้อยกว่าไทยเกือบ 50% 

 

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องสภาพคล่องยังมีผลกระทบในแง่รายได้ภาษีธุรกิจด้วย นั่นคือหากตลาดหุ้นน่าดึงดูดพอก็จะยิ่งมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วย  ซึ่งพบว่าบริษัทเหล่านี้จะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นกว่าก่อนเข้าตลาดฯ เพราะธุรกิจขยายตัวได้มากขึ้นจากที่มีเงินทุนสูงขึ้น เมื่อระดมทุนในตลาดหุ้น แล้วองค์กรธุรกิจพวกนี้ยังมีส่วนทำให้ GDP เติบโตเพิ่มอีก เช่นเดียวกับพวกบริษัทขนาดเล็กอย่าง SME และกิจการ Starup ที่แม้เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยได้ แต่ถ้าสภาพคล่องน้อย ก็จะมายากขึ้นหรือมาน้อยลง แล้วหันไปตลาดอื่นอย่าง ตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน

 

"ผมว่าน่าห่วงมาก ที่ผู้ทำนโยบายไปเทียบเรื่องการจัดเก็บภาษีหุ้นกับประเทศที่ไม่ใช่คู่แข่งหรือเป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี เพราะเงื่อนไขต่างกัน จึงไม่จริงที่บอกว่าจะเกิดผลกระทบแค่ชั่วคราว เพราะตลาดหุ้นไทยยังไม่ใช่ตลาดที่พัฒนาแล้ว เรายังต้องง้อผู้ลงทุนอยู่ นอกจากนี้ตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกงก็ไม่ได้เก็บภาษีอื่น ๆ เช่น ภาษีจากเงินปันผล"

 

สำหรับประเด็นที่ทางกระทรวงการคลังคาดหมายว่าการเก็บภาษีค้าหุ้นดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 16,000 ล้านบาท นั้น ดร.นณริฏ มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะเก็บได้ตามตัวเลขนั้น เพราะหากถึงเวลาเก็บภาษีจริงอาจมีจำนวนนักลงทุนน้อยลงและตัวเลขซื้อขายหุ้นก็ย่อมลดลงไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะต่ำลงไปราว 30% ของตัวเลขประมาณการณ์ที่ 16,000 ล้านบาท อย่างที่รัฐบาลคาดไว้ 

 

เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ที่ให้ความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดเก็บรายได้ถึงระดับที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ เพราะเป็นการคำนวณจากปีฐานช่วงโควิดที่สภาพคล่องสูงมาก ต่างจากปี 2565 ที่สภาพคล่องหายไปกว่า 50% จึงอยากแนะนำให้ผู้ที่คำนวณตัวเลขรายได้ไปคิดใหม่ด้วยตัวเลขฐานของปีนี้แทน รวมถึงต้องคิดอีกว่าถ้านักลงทุนต่างชาติหายไปแล้ว ปริมาณเทรดหุ้นจะลดไปอีกแค่ไหนด้วย 

 

"เราอยากได้บริษัทต่างชาติมาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยมาตลอด แม้จะวางแผนมานานแล้วแต่ต่างชาติก็ยังไม่น่าสนใจ แล้วตอนนี้ก็ยังจะทำลายจุดขายสำคัญอย่างเดียวคือสภาพคล่องไปอีก ยิ่งเท่ากับทำให้ไปเลือกไอพีโอกับตลาดอื่นแทน เหมือนเอาปืนมายิงเท้าตัวเอง งานนี้ตลาดหุ้นสิงคโปร์ยิ้มแน่ เพราะไม่เก็บอะไรเลย" นายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย