posttoday

เจาะกลยุทธ์ธุรกิจ TTB ปี 67 มุ่งทรานส์ฟอร์ม ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า

04 มีนาคม 2567

TTB เปิดกลยุทธ์และแผนธุรกิจปี 67 เดินหน้า LEAD the CHANGE เร่งทรานส์ฟอร์ม 4 ด้าน จับมือพันธมิตรสร้าง Ecosystem Play ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า “คนมีรถ-คนมีบ้าน-พนักงานเงินเดือน-ลูกค้า Wealth” ย้ำไม่สนตั้ง Virtual Bank มุ่งเชื่อม Virtual กับ Physical เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ในปี 2567 ธนาคารเดินหน้า LEAD the CHANGE หรือเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า โดยเร่งทรานส์ฟอร์ม (Transform) องค์กรแบบรอบด้าน มุ่ง 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. Digital Transformation ธนาคารได้จัดตั้งทีมดิจิทัลขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าพัฒนาแอป ttb touch และ ttb business one ภายใต้คอนเซ็ปต์ Humanized Digital Banking เพื่อยกระดับประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าทั้งรายย่อยและธุรกิจ อีกทั้งต่อยอดโซลูชัน Beyond Banking ที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับลูกค้าได้อย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นการวางกลยุทธ์สร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลขององค์กรเพื่อสร้าง New Business Model ใหม่ๆ

2. Revenue Model Transformation เริ่มต้นจากการนำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารขึ้นมาอยู่บนแอป ttb touch เพื่อให้ลูกค้าสามารถสมัครใช้ได้สะดวกสบายมากขึ้น และปัจจุบันธนาคารได้นำ Personalized AI Engine มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษแบบเฉพาะบุคคล หรือ Segment-of-One 

พร้อมกับการผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำของธนาคารมุ่งเน้นเสริมสร้างให้เกิด Ecosystem Play เพื่อส่งมอบโซลูชันและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ช่วยให้ลูกค้าแต่ละ Ecosystem มีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นแบบรอบด้านในทุกช่วงเวลา 

3. Channel & Process Transformation ธนาคารต้องการยกระดับความสะดวกสบายของลูกค้าในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการส่งมอบ Digital-First Experience ซึ่งขณะนี้ 94% ของธุรกรรมที่สาขา ลูกค้าสามารถเปลี่ยนมาทำธุรกรรมได้ผ่านแอป ttb touch 

และที่ผ่านมาธนาคารมุ่งเน้นให้พนักงานสาขาเป็น Digital Ambassador แนะนำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านแอปฯ เพื่อความสะดวก ลดเวลาการเดินทางไปสาขา และปรับเปลี่ยนบทบาทพนักงานให้เป็นที่ปรึกษาและให้บริการในธุรกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น พร้อมยกระดับสาขาให้เป็น Digital Branch ที่มีเครื่องมือดิจิทัลในการอำนวยความสะดวก และให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ

4. Organizational Transformation เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพในการ Make REAL Change อย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนทั่วทั้งองค์กรในช่วงที่ผ่านมา โดยสร้างทีมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง หรือ ttb spark เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพทางด้านดิจิทัลอย่างเต็มที่ผ่านการพัฒนาแอป ttb touch และทีม ttb spark academy ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ และทดลองฝึกงานด้าน Tech & Data 

รวมถึงการพัฒนา (Up-skill) และยกระดับทักษะ (Re-skill) ให้กับบุคลากรทั้งองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าและการธนาคารในโลกอนาคต เพื่อให้ธนาคารสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ การ Transform เป็นการนำดิจิทัลมาดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในทุกช่วงชีวิต ด้วยงบลงทุนด้านดิจิทัลปีละกว่าพันล้านบาท แต่ไม่กระทบงบกำไร-ขาดทุน ผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญ โดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในการนำเสนอโซลูชันต่างๆ ที่มากกว่าการธนาคาร เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร ได้แก่ 

1. คนมีรถ ช่วยดูแลจัดการทุกเรื่องเกี่ยวกับรถ ผ่านฟีเจอร์ My Car ทั้งการจ่ายสินเชื่อ ซื้อ-ต่อประกันรถ ต่อ พ.ร.บ. / ภาษีรถ เติมเงิน-เช็กยอด Easy Pass มอบสิทธิประโยชน์ เพื่อการดูแลรถจากพันธมิตรชั้นนำ รวมถึงยังสามารถเลือกขายรถผ่านลานประมูล

เจาะกลยุทธ์ธุรกิจ TTB ปี 67 มุ่งทรานส์ฟอร์ม ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า

สำหรับลูกค้าที่อยากซื้อรถ สามารถเช็กสุขภาพเครดิตผ่านฟีเจอร์ My Credit ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินวงเงินสินเชื่อและสมัครสินเชื่อได้ทันที พร้อมเลือกซื้อรถมือสองคุณภาพดีผ่าน Roddonjai.com มีรถให้เลือกร่วม 16,000 คัน จากดีลเลอร์และพันธมิตรชั้นนำกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าให้ความไว้วางใจซื้อรถจาก Roddonjai.com ไปแล้วกว่า 12,000 คัน และที่สำคัญที่สุด หากลูกค้า มีปัญหาชีวิตติดขัด รถคุณก็ช่วยได้ด้วยสินเชื่อรถแลกเงิน ทีทีบี ไดรฟ์ ที่สมัครได้ง่าย ๆ ผ่านแอป ttb touch

2. คนมีบ้าน ช่วยจัดการเรื่องบ้านแบบครบวงจร ตั้งแต่เรื่องจุกจิกรายเดือน ด้วยฟีเจอร์ My Home ที่รวมการจ่ายบิลเกี่ยวกับบ้านไว้ที่เดียว พร้อมทั้งบริการแจ้งเตือนล่วงหน้าไม่ให้ลืมจ่าย และยังสมัครสินเชื่อบ้าน ผ่านแอป ttb touch ได้ 

เจาะกลยุทธ์ธุรกิจ TTB ปี 67 มุ่งทรานส์ฟอร์ม ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า

3. พนักงานเงินเดือน ช่วยเติมเต็ม ด้านการใช้จ่ายให้คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากจะมีบัตร ttb all free ฟรี! กด โอน จ่าย เติม ยังให้ลูกค้าสามารถถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรจากตู้เอทีเอ็มธนาคารพันธมิตรได้ฟรี ด้านบัญชีเงินฝากก็มีให้เลือกออมได้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการทุกกลุ่ม 

พร้อมช่วยให้จัดการหนี้อย่างฉลาด ด้วยโปรแกรมวัดระดับหนี้ (Financial Health Check) โซลูชันรวบหนี้ และในอนาคตจะมีโค้ชปลดหนี้ที่ช่วยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกค้าบัญชีเงินเดือนทีทีบี ทั้งมีความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ได้ในทุกช่วงชีวิต โดยมีพันธมิตรชั้นนำมากกว่า 30 ราย 

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ My Tax บนแอป ttb touch ช่วยพนักงานเงินเดือนจัดการเรื่องภาษีให้ง่ายขึ้น พร้อมฟีเจอร์ My Work ที่ช่วยพนักงานลงเวลาเข้า-ออกงาน บริหารจัดการวันลา และคำขอต่างๆ ผ่านแอป ttb touch ได้ ในขณะที่บริษัทจะสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินเดือน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานได้ง่าย มีประสิทธิภาพ พร้อมดูรายงานได้แบบ Real-Time ผ่าน My Work 

4. ลูกค้า Wealth โดย แอป ttb touch จะเป็นผู้ช่วยต่อยอด ความคุ้มค่า-มั่นคง-มั่งคั่ง ผ่านบัตรเครดิต ttb reserve ด้วยการมอบคะแนนสะสมพิเศษรายปีให้กับลูกค้าภายใต้แนวคิด Earn Fast-Burn Smart เพื่อนำไปแลกของรางวัลตามที่ต้องการ รวมถึงสามารถแลกเป็นส่วนลดประกัน หรือกองทุนรวมที่ซื้อกับทีทีบีในรูปแบบเครดิตเงินคืนเข้าบัตรฯ เพื่อต่อยอดความมั่นคงให้ครอบครัว 

นอกจากนี้ ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การลงทุน ทั้ง Wellness Investment ที่ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คุ้มครองเงินต้น (Principal Protected) และ Foreign Investment ที่เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการลงทุนต่างประเทศ ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) สกุลเงิน US Dollar พร้อมมีทีม Private Banking ที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้ง่ายๆ 

“ทีทีบีเชื่อมั่นว่าการทรานส์ฟอร์มทั้งหมดนี้ และเสริมแกร่งด้วยพันธมิตรที่หลากหลายผ่านการสร้าง Ecosystem Play จะทำให้ธนาคารนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรมากยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าสู่ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต” นายปิติ กล่าว 

เจาะกลยุทธ์ธุรกิจ TTB ปี 67 มุ่งทรานส์ฟอร์ม ตอบโจทย์ 4 กลุ่มลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่สนใจเข้าร่วมจัดตั้งเป็น Virtual Bank เนื่องจากมองว่า Virtual Bank ไม่ใช่คำตอบของลูกค้าในทุกกรณี และสิ่งที่ TTB เป็นอยู่ ก็เป็นการขับเคลื่อนไปสู่ Digital Bank อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ TTB ให้ความสำคัญ คือ การเชื่อมระหว่าง Virtual กับ Physical อยู่บน 2 โลก เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า 

นายปิติ กล่าวว่า ในปีนี้ยังคงเจอสิ่งท้าทาย ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมไปถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบ ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากมาตราการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สิ้นสุดลง และธนาคารหันมาเน้นขยายสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อเอสเอ็มอี มากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่เชื่อว่าธนาคารสามารถความเสี่ยงได้ 

ส่วนการตั้งสำรองปีนี้คาดจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารมีการตั้งสำรองในระดับสูง ส่งผลให้ coverage ratio ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 155% จากระบบที่เฉลี่ย 130-140% โดยธนาคารเชื่อว่า สำรองระดับดังกล่าวเพียงพอต่อการเพิ่มขึ้น NPL และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ