posttoday

สนบ. ชี้ "ESG Bond" ช่วยขับเคลื่อนตลาดการเงินสู่อนาคตที่ยั่งยืน

14 ธันวาคม 2566

สนบ. ถอดบทเรียนตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ชี้ นักลงทุนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เผยผลดำเนินงาน 3 ปีนักลงทุนสนใจพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปกติ

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ได้ร่วมเวทีสัมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ

ในช่วง Special Talk: Sustainable Finance: How it is changing the world นางจินดารัตน์ ระบุว่า การเงินเพื่อความยั่งยืนมีความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก โดยจะช่วยสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งครอบคลุมทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของการให้สินเชื่อของภาคการเงินหรือการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้กลุ่ม ESG Bond 

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เข้ามาใช้ในการระดมทุน จำนวน 2 รุ่นมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว โดยมียอดเงินคงค้าง 4.12 แสนล้านบาท ซึ่งสบน. ได้ถอดบทเรียนสำคัญ 2 ข้อ คือ

  • การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปกติ 
  • การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนต้องมีการรายงานความโปร่งใสเพื่อติดตามการจัดสรรเงินทุน ส่งผลให้หน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเพื่อติดตามวัดผลของการลงทุน

แม้ว่ามาตรฐานแนวปฏิบัติใหม่ภายใต้การเงินเพื่อความยั่งยืนจะมีความท้าทาย แต่เชื่อว่าการระดมทุนผ่านการเงินเพื่อความยั่งยืนจะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น 

นอกจากนี้ สบน. ในฐานะหน่วยงานระดมทุน มีความพยายามปรับแนวทางการดําเนินงานทั้งภายในและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้การจัดสรรเงินระดมทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยกระบวนการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของทั้งภาครัฐและเอกชนให้เกิดการพัฒนาตลาด ESG Bond รวมถึงคัดเลือกโครงการเงินกู้ไปจนถึงการติดตามประเมินผล โดยคำนึงถึงกรอบเพื่อความยั่งยืนและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ซึ่งการเงินเพื่อความยั่งยืนไม่ใช่แค่กระแสหรือกลยุทธ์การตลาด แต่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดการเงินสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันผลักดัน