posttoday

ปตท.สผ. ชี้ เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนสำคัญ ช่วยคุมอุณหภูมิโลก

05 กันยายน 2566

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) แนะภาครัฐออกนโยบายซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่ชัดเจน ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน คุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา

ฐานเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนา “ROAD TO NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ” ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทราบถึงมาตรการต่างๆ และเกิดการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

ในช่วง Keynote Speaker : CARBON CAPTURE to NET ZERO คุณมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

โลกเราเปลี่ยนไปในทางที่น่ากังวลมากขึ้น ทั้งอุณหภูมิในยุโรป ปริมาณฝนที่ตกหนักในจีน ปะการังฟอกขาว และไฟป่าจากภัยแล้ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก่อให้เกิดคาร์บอนที่มากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หลายคนคิดว่าการเปลี่ยนจากรถสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะมีส่วนช่วยทำให้สภาพอากาศดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดูตัวอย่างได้จากในจีน เนื่องจากไฟที่ใช้ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาจากพลังงานถ่านหิน 

ขณะที่ปัจจุบัน ทั้งประเทศของเราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 320 ล้านตันต่อปี แม้การปลูกป่าจะช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ แต่เมื่อเทียบในอัตราส่วนแล้ว ป่า 1 ล้านไร่สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2 ล้านตัน แล้วเราต้องปลูกป่าให้ได้ 160 ล้านไร่ เสมือนเปลี่ยนประเทศไทยครึ่งนึงให้เป็นป่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพึ่งพาการปลูกป่าเพียงอย่างเดียว

การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนับว่ามีส่วนสำคัญ เราต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS หรือ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนเอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น นำคาร์บอนไดออกไซด์ที่แยกออกมาได้ไปทำซีเมนต์ หรือ Nanocube 

อีก 30-50 ปี พลังงานอาจเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่นในอนาคต แต่จะอยู่ในรูปแบบไหนยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ แต่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะในไทยถือว่ามีความสำคัญมาก แต่เราจะปล่อยให้เป็นเหมือนเดิมไม่ได้ เราต้องทำให้ก๊าซธรรมชาติมีความสะอาดโดยการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเก็บ

ขณะนี้ อุปสรรคในเมืองไทยคือราคาและค่าตอบแทนในการลงทุน ต่างประเทศเขามีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่เป็นกลไกบังคับจากภาครัฐ ดังนั้น การที่ไทยจะบรรลุเป้าหมาย Net -Zero ได้ นโยบายคาร์บอนเครดิตและผลตอบแทนจากการลงทุน ภาครัฐต้องมีความชัดเจน จึงจะสามารถดึงดูดการลงทุนในภาครดักจับและกักเก็บคาร์บอนได้