posttoday

ผู้ว่า ธปท. ติงนโยบายต้องไม่ลดเสถียรภาพ ย้ำครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ

24 เมษายน 2566

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท. เตือนนโยบายเศรษฐกิจต้องไม่กระทบต่อเสถียรภาพทั้งการเงินและการคลัง มองแนวโน้มครึ่งปีหลังยังฟื้นต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบแล้วแต่ต้องดูแล ย้ำยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาขึ้นที่แรงและเร็ว

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายเศรษฐกิจในอนาคตว่า นโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม ต้องรักษาเสถียรภาพทั้งเรื่องราคา การเงิน การคลัง และต่างประเทศ มากกว่าที่จะให้น้ำนักเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป 

อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมควรเป็นโยบายที่วางโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศเติบโตในโลกใหม่ได้ดี และยั่งยืนมากกว่า รวมถึงไม่กระจุกตัวอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งเท่ากนั้น แต่ควรส่งเสริมและสร้างสวัสดิการในวงกว้าง เช่น กรณีบัตรคนจน/บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนไม่ควรทำแบบทอดแห เช่น ลดราคาเรื่องต่าง ๆ  

"นโยบายเศรษฐกิจใด ๆ ที่บั่นทอนเสถียรภาพก็เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสม"

นอกจากนี้ทาง เศรษฐพุฒิ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าเรื่องการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Bank ว่า กระบวนการทำงานชะลอไปจากแนวทางเดิมที่วางไว้ แต่คาดว่าจะสรุปหลักเกณฑ์และเผยแพร่ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และเปิดรับสมัครได้ภายในไตรมาสที่ 4 

"ยืนยันว่าอย่างไรก็อนุมัติไม่เกิน 3 ราย ซึ่งเพียงพอต่อเรื่องความหลากหลายแล้ว แต่ถ้ามากกว่านั้นจะเกิดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะจากประเด็นที่ Virtual Bank เปิดรับเงินฝากของประชาชน"

อย่างไรก็ตาม ดร. เศรษฐพุฒิ ได้ฉายภาพทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปว่า มีแนวโน้มและเครื่องชี้เศรษฐกิจ ที่แสดงตัวเลขฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยตัวเลข GDP เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเติบโต 4.3% ขณะที่ตัวเลขมูลค่าการส่งออกสินค้าเติบโตขึ้น 4.2% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 16 ล้านคน

สำหรับฝั่งรายได้นั้น คาดว่าตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนเติบโตเพิ่ม 3.7% ส่วนรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรไม่รวมมาตรการรัฐเติบโตขึ้น 6.2% ขณะที่รายได้เกษตรกรไม่รวมมาตรการรัฐกลับหดตัว -6.1% จากผลของฐานราคาสินค้าเกษตรที่สูงในปี 2565 เป็นหลัก โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมันและราคาสุกรจากการขาดแคลนผลผลิตปีก่อน แต่คาดว่าผลผลิตที่ปรับดีขึ้นในปีนี้จะทำให้ราคาสินค้าโน้มลงจากปีก่อนบ้าง

"มั่นใจว่าปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและช่วยมาก คือเรื่องการท่องเที่ยว ที่ครึ่งหลังจ่าจะบวกอีก 16 ล้านคน เป็น 28 ล้านคนทั้งปี เช่นเดียวกับการบริโภคที่น่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากที่อัดอันมานานและรายได้นอกภาคเกษตรที่น่าจะดีขึ้น แม้รายได้เกษตรกรจะไม่ดีนักในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ภาพรวมรายได้ค่อนข้างดี"

ในแง่ของอัตราเงินเฟ้อ ทางเศรษฐพุฒิให้ความเห็นว่า น่าจะอยู่ในกรอบที่วางไว้ได้ คือครึ่งหลังของปีน่าจะอยู่ที่ 2.5% โดยมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ 2.4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคบริการที่ 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามมองว่า Core Inflation จะสูงขึ้นได้ด้วยปัจจัยที่มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากด้านการทองเที่ยวที่ฟื้นตัว 

"เงินเฟ้อเพิ่งเข้ากรอบมาเพียง 1 เดือนเท่านั้น นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 จึงต้องใส่ใจดูว่าระยะใกล้เป็นไปอย่างที่ควรหรือไม่ แต่ก็ถือว่ากลับเข้ากรอบเร็วกว่าที่คาดไว้"

ผู้ว่า ธปท. ติงนโยบายต้องไม่ลดเสถียรภาพ ย้ำครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ

ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน แม้ว่าโดยทั่วไปจะมองว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวก็ตาม ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นได้จากมาตรการเปิดประเทศก็ตาม แต่ทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคก็ไม่ได้รับอานิสงค์ด้านการส่งออกจากกรณีดังกล่าว เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมาจากภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ 

"มีมุมมองที่ว่าจีนลงทุนสร้างกำลังการผลิตในประเทศ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองมากขึ้นและดการนำเข้าลง จึงทำให้อาจไม่ส่งประโยชน์ให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่ก็มีหลายคนมองว่าการส่งออกไปจีนลดลงเป็นปัญหาระยะสั้น เท่านั้น"

สำหรับมุมมองต่อวิกฤติธนาคารในสหรัฐนั้น ดร. เศรษฐพุฒิให้ความเห็นว่าดูมีทิศทางคลี่คลายลง แต่ก็ตอบยากว่าจบหรือยัง และคงยังไม่มีใครกล้าฟันธง แต่เชื่อว่าปัญหาตวามผันผวนการเงินโลกยังไม่จบ เพราะยังน่ามีส่วนอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่สูงและเร็วอยู่ มองว่าน่าจะไปผุดที่กลุ่ม nom-bank ได้ จึงต้องจับตามอง 

"เพราะนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถือว่าเป็นยาแรงมาก จึงยังต้องจับตามมอง"

สำหรับในส่วนนโยบายดอกเบี้ยของไทยนั้น ดร. เศรษฐพุฒิ เปิดเผยว่า แบงก์ชาติใส่ใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่แล้ว เพราะรู้ว่ามีผลตามมาต่อระบบเศรษฐกิจ จึงไม่ขึ้นเร็วและแรงเหมือนต่างประเทศ ด้วยไทยยังมีจุดเปราะบาง เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 86.9% ของ GDP แม้ 60% เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงพอที่จะบรรเทาผลจากดอกเบี้ยขาขึ้นในไทยได้ส่วนหนึ่ง

"อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยรวม เพราะแบงก์ตั้งสำรองไว้สูงอยู่แล้ว"

นอกจากนี้ยังมองว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยนั้นลงบ้างจากช่วงวิกฤติโควิด แต่ยังมีแนวโน้มลดลงช้า ดังนั้นหากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะมีปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มหนี้เรื้อรังที่ต้องหามาตรการมารองรับ และต้องแก้ไขให้ถูกหลักการและครบวงจร

โดยเฉพาะไม่ควรไปสร้างภาระเพิ่มเติมให้ลูกหนี้ เช่น มาตรการพักหนี้ ไม่ควรใช้ระยะยาวนาน เพราะดอกเบี้ยก็ยังวิ่งอยู่ แต่หลังโควิดคลี่คลายแล้วก็หันไปใช้เรื่องปรับโครงสร้างหนี้แทน น่าจะเหมาะสมกว่า อีกทั้งไม่ควรใช้มาตรการที่ไปทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนขาดวินัยทางการเงิน ตลอดจนไปทำมาตรการที่ไปกระทบให้คนไม่สามารถเข้าถึงการเงินได้ในอนาคต 

ผู้ว่า ธปท. ติงนโยบายต้องไม่ลดเสถียรภาพ ย้ำครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยฟื้นต่อ