posttoday

"ทีดีอาร์ไอ" หวั่น นโยบายดอกเบี้ยเฟดทุบ ส่งออกไทยติดลบ ตลาดหุ้น ทรุดหนัก

23 มีนาคม 2566

TDRI ประเมินเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ท่ามกลางวิกฤตแบงก์ เหตุให้น้ำหนักคุมเงินเฟ้อที่ยังสูง ดอกเบี้ยขาขึ้นนานทำให้ ศก.สหรัฐเสี่ยงโตถดถอย กระทบส่งออกไทยโตศูนย์ในปี66 และกลายเป็นติดลบ ขณะที่ความกลัวปัญหาแบงก์ ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยกนง. ลำบากมากขึ้น หวั่นเงินไหลออกรุนแรง

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุถึงกรณี คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ท่ามกลางวิกฤตภาคธนาคาร ว่า นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในรอบนี้ เป็นความพยายามในการควบคุมปัญหาเงินเฟ้อที่ยังสูง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวที่เร็วจนเกินความเหมาะสม เพราะ ทฤษฎีสมัยใหม่มองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมต้องเติบโตในระดับที่พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป 

 

ในขณะที่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด จะทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากทำให้การไหลเวียนของเงินในระดับเศรษฐกิจชะลอตัวลง 

 

จากสถานการณ์ล่าสุด พบว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐ เกิดขึ้นใน 5 ส่วน คือ

1. อัตราเงินเฟ้อที่ยังกดไม่ลง

2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต้องปรับขึ้น เพื่อคุมให้เงินเฟ้อลดลง เข้าสู่เป้าหมายร้อยละ 2 ในระยะยาว

3. ภาคที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มการเติบโตที่ลดลง

4. การถอนเงิน Quantitative Easing (QE) ที่ได้ถูกใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

5. ผลเกี่ยวเนื่องต่อภาคการธนาคาร ที่ทำให้เกิดธนาคารล่ม และปัญหา Bank run

 

ณ ตอนนี้ ปัญหาบางส่วนได้ถูกคลี่คลายมากขึ้น โดยเฟด ได้ให้ความชัดเจนแล้วว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะสูงสุดในรอบหน้า โดยส่วนตัวคาดการณ์ว่าจะขึ้นอีก 0.25% และคงที่ระดับนี้จนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย  โดยสถานการณ์ ภาคที่อยู่อาศัยเริ่มกลับมาดีขึ้น ส่วนการถอน QE ยังคงตามเดิม แต่ เฟด ก็พร้อมจะอัดฉีดให้กับภาคธนาคารที่ต้องการสภาพคล่อง ทำให้หลายๆ ความเสี่ยงได้ถูกจัดการไปแล้ว 

 

“ส่วนที่ยังเหลืออยู่ คือ เรื่องการควบคุมเงินเฟ้อที่เฟด ยังคงต้อง "คง" อัตราดอกเบี้ยอย่างยาวนาน ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจชะลอตัวมีมากขึ้น และอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อบางภาคเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบถดถอย เพราะว่าเงินเฟ้อยังคุมไม่ได้ และดอกเบี้ยขึ้นสูง และคงอยู่เป็นเวลานาน นั่นจะทำให้ประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจชะลอตัวตามไปด้วย และส่งผลให้ภาคส่งออกของไทยซบเซากว่าเดิม โดยคาดว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตอยู่ที่ศูนย์ปีนี้ ก็จะกลายเป็นโตแบบติดลบ”

 

ทั้งนี้ ผลจากดอกเบี้ยสูงยังส่งผลกระทบต่อการไหลออกของเงิน ก็จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น และทรัพย์สินของคนไทยที่โยงกับตลาดหุ้น ทำให้การบริโภคแย่ลง แต่มีภาคท่องเที่ยวมาช่วยประคอง
ขณะนี้ ตลาดมีความกลัวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีปัญหาแบบต่างประเทศ แม้ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะมีความเสี่ยงแบบที่ตลาดกังวล แต่กระนั้นความกลัวตรงนี้จะทำให้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 มี.ค.นี้ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามทิศทางของเฟดได้ยากมากขึ้น อาจปรับขึ้นเล็กน้อย หรือ อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เพราะปัจจัยเรื่อง ความกลัวของตลาดอาจจะทำให้เกิดการไหลของเงินออกอย่างรุนแรง จะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้น

 


 “การไหลของเงินมีหลากหลายมิติ เพราะ เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง เช่น ตราสารหนี้ของ credit suisse อยู่ๆ ก็ default ทั้งๆ ที่น่าจะเสี่ยงต่ำ ดังนั้น อาจจะถอนไปซื้อทอง ไปถือเงินก็ได้ ผลตอบแทนอาจจะไม่ใช่เหตุผลเสมอไป ในความไม่แน่นอน น่าจะกระจายความเสี่ยง และลดการถือครองสินทรัพย์ที่อาจจะเสี่ยง เช่น กรณีของไทยคือ หุ้นแบงค์ นี่คือ มาจากความกลัว”

 

ส่วนประเด็นที่ ว่า ขณะนี้ปัญหาแบงก์ที่มีปัญหาในสหรัฐน่าจะคลี่คลายลงได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่
คาดเดาได้ ยาก เพราะถ้าใช้กรอบการวิเคราะห์แบบปกติ แม้แต่พวก credit suisse หรือ ธนาคารสหรัฐที่ล้มไป ก็จะมองได้ว่า ไม่มีปัญหา ข้อมูลที่ขาดคือ ไส้ในจริงๆ ที่ไม่ได้มีข้อมูลออกมา
แต่สำหรับของไทยตอนนี้ เรามีตัวเลขที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก เลยเสี่ยงน้อยกว่ามาก ผลจากแบงก์ปิดกระทบระบบการเงินไทยไม่มาก แต่คนถือหุ้นจะแย่หน่อย แต่แบงก์ของต่างประเทศจะน่ากลัวว่า จะมีปัญหาอีกหลายที่