posttoday

"New Space Economy Thailand" ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมอวกาศ

17 มีนาคม 2566

GISTDA จับมือ NIA จัดสัมมนานานาชาติ "New Space Economy Thailand" อุตสาหกรรมอวกาศที่จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆทั้งการสร้างงาน การพัฒนาเทคโนโลยี การแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กองทุน กทปส. ร่วมจัดงานสัมมนานานาชาติ “New Space Economy Thailand” เพื่อร่วมส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย

"New Space Economy Thailand" ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมอวกาศ

ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ กล่าวว่า งานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มด้านอวกาศเชิงลึกของประเทศไทย การวางกรอบเชิงนโยบายและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอวกาศ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ตลอดจนนโยบายการส่งเสริมการเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และนับเป็นครั้งแรก ที่มีเวทีด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศระดับนานาชาติเกิดขึ้นในประเทศไทย

"New Space Economy Thailand" ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมอวกาศ

เมื่อถูกถามว่า ระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันตอบโจทย์มากแค่ไหนในการผลิตแรงงานออกสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า เรื่องการศึกษา เรามีการเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีในเรื่องของอวกาศ ตอนนี้เรามีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่อย่างไรเสีย เรื่องของโปรแกรม รายละเอียด ยังต้องทำเพิ่มเติม เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศ เราเลยต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเป้าหมายของตลาดคืออะไร หลักในเรื่องของอวกาศคืออะไร ต้องมีคอร์สที่เพิ่มขึ้น ในการเพิ่มศักยภาพของการเรียนการสอนการทำงานต้องขึ้นอยู่กับทั้ง 3 ภาค ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมในเรื่องอวกาศ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ยังเสริมถึงความสำคัญของดาวเทียมต่อตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตว่า มาตรฐานจากข้อมูลดาวเทียมจะเป็นตัวบอกได้ว่าป่าของแต่ละประเทศดูดซับคาร์บอนได้เท่าไหร่ ซึ่งในการค้าขายในตลาดกับนานาชาติสิ่งนี้จะถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการสนับสนุนด้านการค้าขาย

"New Space Economy Thailand" ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมอวกาศ

ขณะที่ เมื่อถามว่าอุตสาหกรรมอวกาศจะมีส่วนช่วยประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ภายในปี 2030 อย่างไร ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า คาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นโมเดลธุรกิจ อุตสาหกรรมอวกาศและอุตาสาหกรรมอากาศยานถือว่าเป็นสาขาที่ต้องใช้เทคโนโลยีแบบเข้มข้น ดังนั้นการลงทุนในช่วงแรกจะสูง ในเรื่องความยั่งยืนและตอบโจทย์ COP ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ Green Tech การพัฒนาให้เราบรรลุเป้าหมายของ COP มันไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างความตระหนักเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถลดต้นทุนในการใช้ข้อมูลอย่างไรด้วย