posttoday

"DPA-คลัง" ยันสั่งปิด 2 แบงก์สหรัฐ ไม่กระทบระบบการเงินไทย

15 มีนาคม 2566

DPA ย้ำแบงก์ไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงกับ 2 ธนาคารสหรัฐที่ถูกสั่งปิด ชี้ FDIC-Fed แก้ปัญหาเพื่อลดผลกระทบรวดเร็ว สอดคล้องกับก.คลัง กระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐอเมริการะยะสั้นเท่านั้น ยันระบบการเงินไทยมั่นคง มีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่เข้มแข็ง รองรับความผันผวนได้

การติดตามสถานการณ์ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และ ธนาคาร Signature Bank ของประเทศสหรัฐอเมริกาถูกปิดกิจการ

 

กรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และธนาคาร Signature Bank ในประเทศสหรัฐอเมริกาถูกปิดกิจการ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(DPA)ได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่า ปัญหาของธนาคารดังกล่าวมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งนี้หน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ  หรือ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) และ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Federal Reserve (Fed) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารดังกล่าวนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ สถาบันการเงินของไทยไม่มีธุรกรรมโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับธนาคารดังกล่าว และไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกิจการของธนาคารดังกล่าว

 

สำหรับประเทศไทย การดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินนั้นมีหลายหน่วยงานที่กำกับดูแล ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหามีเครื่องมือ และวิธีการหลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะ และเหตุการณ์ของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นหนึ่งในหน่วยงาน และหนึ่งในเครื่องมือในการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์หากมีปัญหาเกิดขึ้น 

 

ในปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ในแต่ละสถาบันการเงิน หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ฝากเป็นผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้วงเงินคุ้มครองผู้ฝากเต็มจำนวน 

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันคุ้มครองเงินฝากติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป
 

 

ด้าน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐเมริกาได้ประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้าควบคุมเพื่อแก้ไขปัญหาฐานะนั้น กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด 

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาฐานะทางการเงิน โดยธนาคาร Silicon Valley หรือ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ระดับภูมิภาค (Regional Bank) ที่มีสินทรัพย์ประมาณ 7.35 ล้านล้านบาท หรือมีขนาดสินทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถูกควบคุมโดยภาครัฐเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและประสบภาวะขาดทุนจากกลยุทธ์ในการบริหารสินทรัพย์ของธนาคาร นอกจาก SVB แล้ว ธนาคาร Silvergate และธนาคาร Signature ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับ Cryptocurrencies เป็นหลัก ได้ประสบปัญหาฐานะจากราคา Cryptocurrencies ที่ลดลง โดยธนาคาร Silvergate ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 และธนาคาร Signature ถูกควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาฐานะเมื่อวันที่  12 มีนาคม 2566 ซึ่งปัญหาฐานะของธนาคารทั้งสองแห่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาด Cryptocurrencies

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 หน่วยงานภาครัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารกลาง (Federal Reserve: FED) กระทรวงการคลัง (Treasury Department) และองค์กรค้ำประกันเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC)  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและผู้ฝากเงินว่าภาครัฐมีมาตรการรองรับหากระบบสถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่อง เช่น Bank Term Funding Program เป็นต้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาฐานะของ SVB และธนาคาร Signature จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน รวมทั้งจะไม่ใช้เงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

ในเบื้องต้น กระทรวงการคลังประเมินว่า เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือระบบการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป

 

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ในการนี้ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด”