posttoday

ท่องเที่ยวส่ง GDP โต 3.4% คาดดอกเบี้ยเงินกู้แตะ 6.6% ปลายปีนี้ ส่วนบาทผันผวน

10 มกราคม 2566

แม้ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต แต่ส่งออกยังฉุดพลังฟื้นให้แผ่วด้วยตลาดโลกชะลอ ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS จึงมองว่าปี 2566 จะมี GDP โตที่ 3.4% โดยคาดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จะแตะถึง 6.6% ปลายปี ขณะที่เงินบาทยังผันผวน พร้อมฝากภาคธุรกิจปรับตัวรับมือ 5 ปัจจัยเสี่ยง

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 3.4% ซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ 3.2% ตามแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจะถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคการท่องเที่ยว

 

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 ล้านคนหรืออาจจะมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนหลังประเทศจีนผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID พร้อมคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติฟื้นตัวมาคิดเป็น 53% และ 22% เมื่อเทียบกับระดับเดิมในช่วง pre COVID ตามลาดับ

 

ทั้งนี้ยังมองว่า ภาคธุรกิจควรเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่กาลังเพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนเที่ยวบินฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 46.6% ของปี 2562 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มจานวนเที่ยวบิน และการเตรียมพร้อมด้านแรงงาน

 

แม้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง แต่คาดว่าหลายประเทศในเอเชียยังเติบโต ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกถึง 70% ทำให้ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลงจะกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งอาจขยายตัวเพียง 0.7% เท่านั้น ด้วยการที่เศรษฐกิจไทยเดินหน้าด้วยเครื่องยนต์เดียวจึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ดังที่ OECD ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2566 อ่อนแอลงอยู่ที่เติบโตขึ้น 2.2% ด้วยปรับลดประมาณการเติบโตของโลกและเขตเศรษฐกิจหลักทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ว่าจะเติบโตที่ 0.5% 3.3% และ 4.6% ตามลำดับ 

 

นั่นคือ แม้ว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากการขึ้นดอกเบี้ย และยุโรปมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตพลังงาน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศเหล่านั้น ยังมีทิศทางที่เข้มข้นมากขึ้น สะท้อนจากการตอกย้ำจุดยืนของประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยในเวทีการประชุม COP27 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่าเศรษฐกิจโลกอาจแย่กว่าคาดจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ซึ่งยังต้องเผชิญความเสี่ยงใหม่ ๆ เข้ามาโดยไม่คาดคิดและเกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เช่น การยกระดับของสงครามยูเครน และการชะลอตัวลงมากของเศรษฐกิจจีน หากมีการระบาดรุนแรง

 

ในส่วนของจีน มีการปรับตัวเลขประมาณการณ์ แม้คาดว่าขยาย 4.8-5.4% แต่ก็ยังต่ำกว่าตัวเลขของทางการจีน จึงน่าจะเห็นการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 


นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อสูงจะยังไม่หมดไป เนื่องจากภาคธุรกิจยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนผ่านด้านต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและแรง สร้างความกังวลให้กับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ โดยทั้งประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจหลักและอาเซียนต่างเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อระดับสูง ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 1.2-5.7 เท่าตัว ในไตรมาส 3/2565เทียบกับไตรมาส 4/2564

 

ส่งผลให้คาดว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% ในปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2% ในปี 2566 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) อาจอยู่ที่ 2.5% ในปี 2567 ซึ่งนับเป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัวของประเทศไทย ส่วนค่าเงินบาทยังเผชิญความผันผวนจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะยังคงผันบอยู่ในช่วง 33.75-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ยังประเมินอีกว่า ดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้นทันทีหลังสิ้นสุดมาตรการลด FIDF Fee ซึ่ง การปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee จะกลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ของฐานเงินฝากในคราวเดียว จึงอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M Rate ปรับขึ้นถึง 0.4% คาด MLR ต่ำสุดอาจแตะที่ระดับ 6.6% ในช่วงปลายปี 2566

 

ตารางสรุปประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2565-2566
 

 

2564

2565f

2566f

   GDP Thai (%YoY)

1.5

3.2

3.4

   Private Consumption (%YoY)

0.3

6.2

3.5

   Government Consumption (%YoY)

3.2

-0.1

-0.2

   Private Investment (%YoY)

3.3

3.5

3.2

   Public Investment (%YoY)

3.8

-1.4

2.2

   Export USD (%YoY)

19.2

7.0

0.7

   Import USD (%YoY)

23.9

15.0

1.3

   Headline Inflation (%)

1.2

6.1

3.1

   Tourism Arrivals (Million Persons)

0.43

10.2

22.5

   Policy Rate (End of Period)

0.50%

1.25%

2.00%

   THB / USD (Year Range)

30.033.5

32.7 37.9

33.7536.50


ที่มา: ประเมินโดย Krungthai COMPASS (ณ ธันวาคม 2565)

 

สำหรับในปี 2566 Krungthai COMPASS ยังประเมินอีกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง นำพาเศรษฐกิจไทยไปอยู่ในจุดที่ไม่คุ้นเคย ภายใต้โลกใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะชะลอตัว เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการท่องเที่ยว การเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย และการเปลี่ยนผ่านท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น


อีกทั้งมองว่า การเปลี่ยนผ่านทั้ง 5 ด้านมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการปรับตัวเข้าบริบทโลกใหม่ที่ใส่ใจกับเรื่อง climate change และความยั่งยืน

 

อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในยามที่ต้นทุนอื่น ๆ ก็สูงขึ้นรอบด้านทั้งดอกเบี้ย ค่าไฟ และค่าแรง แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น ผู้ประกอบการที่ปรับตัวจะมองเห็นลู่ทางธุรกิจใหม่ ๆ มีโอกาสเติบโตแม้ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว