พีระพันธุ์ แช่แข็งไฟฟ้า Re 2,180 MW เปิดทางโรงไฟฟ้าเจ้าเดิมฟันกำไรต่อ
จับพิรุธ “พีระพันธุ์“ ขวางซื้อไฟฟ้าราคาถูกหน่วยละ 2.16 บาท จะให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าแพงหน่วยละ 3.10 บาท -11 บาท หวั่นดีลลับต่ออายุโซลาร์ฟาร์มที่ฟันค่า adder หลายหมื่นล้าน แล้วยังได้ขายไฟอีกยาว ชี้แช่แข็งโครงการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2,180 MW กระทบเป้า Net Zero เอกชนที่ได้รับคัดเลือกเสียหาย
กรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่งหนังสือถึงเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ระงับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 2,180 เมกะวัตต์ไว้ชั่วคราวจนกว่า จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
โดยอ้างว่าจะขอเวลาตรวจสอบไม่นาน คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2567 จนถึงวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไป 5 เดือนแล้ว ยังไม่ยอมเปิดเผยความคืบหน้าของการตรวจสอบโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว
การแช่แข็งกำลังส่งผลเสียหายต่อแผนพลังงานของประเทศไทยที่มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065
นอกจากนั้น ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจาก กกพ.ให้ขายไฟฟ้า จำนวน 72 รายก็ได้รับผลกระทบด้วย ไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้เพราะไม่รู้ว่า พีระพันธุ์ จะแช่แข็งโครงการต่อไปอีกนานแค่ไหน
เหมือนตอนที่ พีระพันธุ์ สั่งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับโครงการจ้างขุด/ขนถ่านหินโรงไฟฟ้าแม่เมาะไว้ก่อนอ้างเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรแช่แข็งโครงการไว้เฉยๆ 4 เดือน จนเกิดปัญหากับ กฟผ.จากการขาดถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้า
และยังกระทบถึงผู้ชนะการประมูล จนถึงกับต้องส่งหนังสือถึง กฟผ. แจ้งว่าจะฟ้องผู้เกี่ยวข้องหาก กฟผ.ไม่เซ็นสัญญาภายใน 15 วัน ทำให้ พีระพันธุ์ จำใจยอมให้ กฟผ.ได้เดินหน้าทำสัญญาว่าจ้างกับผู้ชนะการประมูล
ถึงแม้ คณะกรรมการกฤษฎีกาจะเคยตอบข้อซักถามของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) สามารถสั่งให้ 3 การไฟฟ้าชะลอการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนดำเนินการต่อได้ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ต้องมีแนวทางการตรวจสอบที่ชัดเจนและกำหนดกรอบระยะเวลาให้แน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ได้รับการคัดเลือก
ไฟถูกไม่เอา จะซื้อไฟแพง เอื้อประโยชน์โซลาร์ฟาร์มเจ้าเก่า
การสกัดไม่ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับซื้อไฟฟ้าพลังงงานหมุนเวียนดังกล่าว ซึ่งถูกกว่า ราคาซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนในปัจจุบันมาก
ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2553 - ปัจจุบัน ที่ได้รับค่าอุดหนุนหรือค่า adder หน่วยละ 6.5 - 8 บาทสำหรับไฟฟ้าโซลาร์ และหน่วยละ 3.50 บาท สำหรับไฟฟ้าพลังลมเป็นเวลา 10 ปี
ราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ พีระพันธุ์ สั่งระงับ ไฟฟ้าโซลาร์หน่วยละ 2.16 บาท พลังงานลมหน่วยละ 3.10 บาท ไม่มีค่า adder
ในขณะที่ ราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มปัจจุบัน ช่วง Peak หน่วยละ 4.51 บาท บวกค่า adder หน่วยละ 6.50 บาท เท่ากับ 11.01 บาท แพงกว่าราคาไฟฟ้าโซลาร์ที่ พีระพันธุ์ สั่งชะลอการรับซื้อถึงหน่วยละ 9 บาท
แม้จะไม่มีค่า adder แล้ว ก็ยังแพงกว่าหน่วยละ 2 บาท เพราะต้นทุนไฟฟ้าโซลาร์ปัจจุบันลดลงมากแล้ว แต่โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มยังขายไฟได้ในราคาแพง เพราะเป็นสัญญาเดิมที่มีการต่ออายุอัตโนมัติทุก 5 ปี
สำนักงาน กกพ.เคยเสนอให้ กพช.ทบทวนสัญญารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนใหม่ โดยกำหนดราคารับซื้อที่สะท้อนต้นทุนแท้จริง เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ได้ค่า adder 10 ปีคุ้มทุนได้กำไรไปหมดแล้ว แต่ยังคงขายไฟในราคาที่สูง ไม่เป็นธรรมกับประชาชน
กกพ.ประเมินว่า การทบทวนสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT ลดลงหน่วยละ 17 สตางค์ทันที ทำให้ค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปีนี้ไม่เกิน 3.98 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าประหยัดได้ ตลอดปี 2568 มากถึง 33,150 ล้านบาท
แต่นายพีระพันธุ์ไม่เห็นด้วย เรียกเลขาธิการสำนักงาน กกพ.ไปสั่งให้ยกเลิกข้อเสนอนี้ โดยอ้างว่าการทบทวนสัญญาทำไม่ได้ อาจถูกคู่สัญญาฟ้องร้อง ถึงแม้เลขาธิการ กกพ. จะยืนยันว่าทำได้ เพราะพรบ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 ให้อำนาจในการแก้ไขสัญญาให้ราคารับซื้อสะท้อนต้นทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ
ในอดีต สัญญาขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีราคาคิดกันเป็นเมกะวัตต์คือ เมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาท ตอนนี้มีข่าวสะพัดในวงการพลังงานว่า ราคาได้ปรับขึ้นเป็นเมกะวัตต์ละ 3-5 ล้านบาท แลกกับการได้ต่อสัญญาขายไฟฟ้าราคาแพงไปชั่วนิรันดร์...
โดย ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์