SACIT ลุยตะวันออกกลาง เปิดตลาดหัตถกรรมไทย มูลค่า 3 แสนล้าน
SACIT เปิด 4 ภารกิจพลิกโฉมศิลปหัตถกรรมไทย มูลค่าส่งออก 3 แสนล้าน ตั้งเป้าขยายตลาดไทย-ต่างประเทศ เริ่มตีตลาดตะวันออกกลาง ดันไทยเป็นฮับศิลปหัตถกรรมแห่งอาเซียน
ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT(Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand) เปิดเผยว่า ปี 2568 SACIT มีแผนส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยนโยบายสืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม เพื่อยกระดับงานศิลปหัตถกรรมในทุกมิติ
มุ่งการอนุรักษ์งานคราฟต์ดั้งเดิมที่กำลังเลือนหายไป เพื่อให้ยังคงอยู่ในตลาด และในวิถีชีวิตของคนไทย และมีความสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่สร้างสรรค์ เป็นการทำให้งานคราฟต์มีความร่วมสมัยผ่านการออกแบบ รูปลักษณ์ การคัดเลือกนำวัสดุมาใช้ให้เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการสร้างการรับรู้ในงานศิลปหัตถกรรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ และจัดการวัฒนธรรมศิลปหัตถกรรม เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในทุกเจเนอเรชั่นเกิดความชื่นชอบ และใช้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยเพิ่มมากขึ้น
ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดผ่านการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลาย และเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
มิติแรกคือ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” ในปี 2568 จะเน้นสร้างความตระหนักถึงกลุ่มงานหัตถศิลป์ประเภทเครื่องรัก-เครื่องมุก และงานหัตถศิลป์ล้านนาประเภทเครื่องเขิน ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย เหลือครูผู้สร้างสรรค์น้อยราย
SACIT จะมีการสืบสานทั้งในด้านองค์ความรู้ วัตถุดิบ ทักษะเชิงช่างหัตถกรรม และยังมองภาพใหญ่ในแง่มุมของการเชื่อมโยงองค์ความรู้ร่วมกันของทั้งไทยและต่างประเทศ เตรียมเปิดงานประชุมวิชาการด้านศิลปหัตถกรรม นำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงวิชาการ และนวัตกรรมเกี่ยวกับงานคราฟต์
รวมถึงผลงานการสร้างสรรค์สำหรับกลุ่มงานหัตถกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์-สืบสาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการผลักดันงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เติบโตและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงเครือมีข่ายต่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเซีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และอินเดีย ได้มีส่วนร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
ฟื้นฟู "ยางรัก" วัตถุดิบผลิตเครื่องรัก-เครื่องมุก
ทั้งนี้ การรังสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยประเภทเครื่องรัก-เครื่องมุก ต้องอาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติดั้งเดิมอย่าง "ยางรัก" ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มกลายเป็นวัตถุดิบที่หายาก และยังต้องอาศัยการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบดังกล่าว ในอนาคต SACIT ประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการฟื้นฟูและสนับสนุนการปลูก-เก็บเกี่ยว อนุรักษ์พันธุ์พืชที่ให้ยางรัก
โอกาสของการผลักดันกลุ่มพืชพันธุ์ไม้ที่ให้ยางรักสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ในปีงบประมาณเดียว แต่ต้องอาศัยระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี ขึ้นไปเพื่อร่วมกันรณรงค์การสืบสานวัตถุดิบสำคัญอย่างยางรักให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย
ผศ.ดร.อนุชา กล่าวเสริมว่า SACIT ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังใส่ใจต่อเรื่องชุมชน สังคม รวมถึงกลุ่มคนผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ไทยทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องของสุขภาพ จึงได้มีการจัดทำงานวิจัยด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ผลิตงานคราฟต์ โดยศึกษาถึงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงานพร้อมหาแนวทางในการป้องกันและฟื้นฟู
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและขยายโอกาสให้กลุ่มคนหลากหลายสามารถเข้าถึงกระบวนการผลิต และการบริโภคงานคราฟต์
ทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางทั้งหลายที่มีศักยภาพ แต่ไม่ได้รับการเปิดโอกาส เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดอยุธยาและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงส่งเสริมกลุ่มครูช่างฯ และ สมาชิก SACIT ในกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเปิดโอกาสให้นำเอาองค์ความรู้ ไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ และสร้างอาชีพที่มีคุณค่า
อีกทั้งยังส่งเสริมเรื่องโอกาสช่องทางการตลาดโดยมุ่งพัฒนางานคราฟต์ภายใต้แนวคิด ESG ผ่านการเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดรับกับบริบททางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อาทิ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนหัตถกรรมเข้ากับภาคการท่องเที่ยว
เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจากงานศิลปหัตถกรรม ผ่านการประสานความร่วมมือกับการท่าอากาศยาน โดยมีแผนการขยายพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์งานคราฟต์จากชุมชน เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่มีความร่วมสมัยที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ผศ.ดร.อนุชา กล่าวต่อว่า ในด้านการยกระดับงานคราฟต์ผ่านเครือข่ายพันธมิตร ที่ผ่านมา SACIT ได้มีการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงองค์ความรู้เพื่อร่วมพัฒนางานหัตถกรรมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศเมียนมา จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
มูลค่าส่งออกงานหัตถศิลป์ไทย 3 แสนล้าน
ปี 2567 ที่ผ่านมา สรุปรายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย มูลค่าส่งออกรวม 379,198.64 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.34 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ เครื่องเงิน เครื่องทอง และเพื่อเป็นการยกระดับงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์สู่เวทีนานาชาติ
ตีตลาดตะวันออกกลาง
ปี 2568 นี้ SACIT ยังได้ศึกษาโอกาสการเข้าถึงช่องทางตลาดต่างประเทศเชิงรุก โดยมีตลาดเป้าหมายเป็นกลุ่มประเทศศักยภาพ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน คูเวต โอมาน การตาร์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และเยเมน
ริเริ่มโครงการ SACIT for Middle East โดยมีแผนการร่วมออกงานโรดโชว์ ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทย อาทิ งานเครื่องปั้นดินเผาที่มีเอกลักษณ์ และงานศิลป์ชั้นสูงอย่างเครื่องเบญจรงค์ ที่มีส่วนผสมของทองคำซึ่งตอบโจทย์ต่อรสนิยมของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงในตลาดตะวันออกกลางที่ให้คุณค่ากับงานคราฟต์ที่มีความประณีต ให้กลิ่นไอความลักซ์ชัวรี
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังนำมาสู่การศึกษาคุณลักษณะ-แนวโน้มความต้องการของตลาดตลอดจนข้อจำกัดต่าง ๆ ในการนำเข้าสินค้าในตลาดตะวันออกกลาง เพื่อนำข้อมูลจากการสังเกตการณ์มาประกอบข้อมูลจากการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายผลไปยังตลาดอื่น ๆ ต่อไป