"พิชัย" เคลียร์ปมแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 ใช้ซื้อเหล้า-บุหรี่ได้
พิชัย แจงเงิน 10000 เฟส 3 ซื้อเหล้า-บุหรี่ได้ ชี้รัฐไม่ได้กำหนดรายการสินค้าต้องห้าม แต่ใช้เกณฑ์ขนาดร้านค้าแทน ย้ำแม้ใช้จ่ายค่าเทอมโดยตรงไม่ได้ แต่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงกรณีที่โซเชียลมีเดียตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการโอนเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 สำหรับกลุ่มเยาวชนอายุ 16-20 ปี ว่าสามารถนำไปซื้อสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่ได้หรือไม่ โดยระบุว่ารัฐบาลไม่ได้กำหนดรายการสินค้าต้องห้าม (Negative List) แต่ใช้เกณฑ์ขนาดของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเป็นตัวกำหนดแทน
นายพิชัยกล่าวว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาให้เยาวชนสามารถนำเงินดิจิทัลไปใช้ซื้อสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่โดยตรง เช่น การซื้อจากร้านขายเหล้า หรือร้านขายบุหรี่โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากกำหนดรายการสินค้าที่ห้ามซื้อ อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้จ่ายสำหรับประชาชน รัฐบาลจึงเลือกใช้เกณฑ์ขนาดร้านค้าแทน
บางร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น ร้านขายของชำ ซึ่งอาจมีมุมเล็ก ๆ สำหรับขายเหล้าหรือบุหรี่ หากเราไปห้ามร้านประเภทนี้ไม่ให้เข้าร่วมโครงการเลย ก็อาจกระทบกับการใช้จ่ายของประชาชนโดยรวม ดังนั้นรัฐบาลจึงกำหนดให้ร้านค้าขนาดเล็กที่มีสินค้าเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของร้านสามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่สำหรับร้านที่ขายสินค้าเหล่านี้เป็นหลักจะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วม
นอกจากนี้ นายพิชัยยังกล่าวถึงการพัฒนาระบบของแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการให้สามารถตรวจสอบประเภทของสินค้าที่ประชาชนซื้อได้โดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้การควบคุมการใช้เงินดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันระบบดังกล่าวยังไม่สามารถรองรับได้เต็มรูปแบบ และต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพิ่มเติม
ส่วนประเด็นที่เงินดิจิทัลเฟส 3 ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายค่าเทอมโดยตรงได้นั้น นายพิชัยชี้แจงว่า รัฐบาลมีแนวคิดให้เงินจำนวนนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคของครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองมีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้จ่ายค่าเทอมได้มากขึ้น
จริง ๆ แล้ว เงินจำนวนนี้ช่วยให้ประชาชนมีงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง หากผู้ปกครองสามารถบริหารจัดการเงินอย่างเหมาะสม สุดท้ายก็จะทำให้มีเงินไปจ่ายค่าเทอมของบุตรหลานได้
สำหรับโครงการเงินดิจิทัลเฟส 3 ถือเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือเยาวชนอายุ 16-20 ปี ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าการสนับสนุนเงินจำนวนนี้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ