posttoday

ผู้บริหารซูชิพันล้าน เชื่อตลาดอาหารญี่ปุ่นโต ลุยขยายสาขา สู่เป้า 5 พันล้าน

06 กุมภาพันธ์ 2568

สองผู้บริหาร เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป เจ้าของแบรนด์ร้าน "ชินคันเซ็น ซูชิ" มั่นใจอาหารญี่ปุ่นยังมีอนาคตเติบโต ลุยขยายสาขาเพิ่ม ตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ภายใน 5 ปี ยอดขายถึง 5 พันล้านบาท

เมื่อช่วงต้นปี 2568 ที่ผ่านมา องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ได้เปิดผลสำรวจจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยพบว่า จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวนทั้งหมด 5,916 ร้าน เพิ่มขึ้นมาเพียง 165 ร้าน หรือ 2.9% จากปี 2566

โดยแบ่งเป็นร้านในกรุงเทพฯ 2,672 ร้าน ส่วนร้านในต่างจังหวัดมี 2,371 ร้าน และร้านในปริมณฑล 873 ร้าน โดยจังหวัดที่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นรองจากกรุงเทพฯ 10 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ ปทุมธานี ภูเก็ต นครปฐม นครราชสีมา สงขลา และขอนแก่น 
 

จากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด ร้านอาหารประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากสุดถึง 1,439 ร้าน ตามมาด้วย ร้านซูชิ 1,279 ร้าน ร้านราเมน 802 ร้าน อิซากายะ 480 ร้านสุกี้ และชาบู 448 ร้าน ยาคินิคุ 433 ร้าน ร้านคาเฟ่ 329 ร้าน และ 162 ร้าน เป็นประเภทดงบุริ ซึ่งเป็นร้านข้าวหน้าเนื้อ ข้าวหน้าเท็มปุระ ข้าวหน้าหมูและข้าวหน้าอาหารทะเล ที่เหลือเป็นอื่นๆ อาทิ ร้านข้าวแกง ร้านอาหารตะวันตกสไตล์ญี่ปุ่น ร้านเทปันยากิ ร้านโซบะ เป็นต้น

ผู้บริหารซูชิพันล้าน เชื่อตลาดอาหารญี่ปุ่นโต ลุยขยายสาขา สู่เป้า 5 พันล้าน

ที่น่าสนใจคือ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุด เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่การเพิ่มขึ้นน้อยสุดอยู่ที่ 230 ร้าน และในปี 2565 ที่เคยมีร้านญี่ปุ่นเพิ่มสูงสุดถึง 955 ร้าน
เมื่อวิเคราะห์ตามประเภทร้านอาหารพบว่า ร้านซูชิซึ่งเป็นประเภทร้านที่ได้รับความนิยมเปิดมากที่สุด

ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 ลดลงเหลือ 1,279 ร้าน หรือ -6.8% ลดอันดับลงไปอยู่รองจากร้านประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบมีเมนูเป็นเซ็ตและอาหารไคเซกิ ที่มีจำนวนร้านมากที่สุดคือ 1,439 ร้าน เพิ่มขึ้นถึง 6.3%

ปี’67 ร้านอาหารญี่ปุ่นมีทั้งเปิดและปิด

ชนวีร์ หอมเตย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายร้านที่ปิดตัวไปเช่นกัน ผมคิดว่าถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น อาหารญี่ปุ่นก็น่าจะเป็น category หนึ่งที่น่าจะขยายตัวได้มากเช่นกัน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นเติบโตอยู่ได้หลัก ๆ จะมาจากทำเลที่ตั้งของร้าน และคุณภาพของวัตถุดิบ ที่สำคัญคือลูกค้าที่เลือกรับประทานอาหารญี่ปุ่นจะมองในแง่ของความคุ้มค่า คือราคาต้องไม่สูงมากในแต่ละมื้อ

ขณะที่ ศุภณัฐ สัจจะรัตนกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2567 ที่ผ่านมา มีความท้าทายจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น การแข่งขันระหว่างร้านอาหาร และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยทำให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง

ผู้บริหารซูชิพันล้าน เชื่อตลาดอาหารญี่ปุ่นโต ลุยขยายสาขา สู่เป้า 5 พันล้าน

สำหรับ เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป เป็นหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2558 จากการเปิดสาขาแรกในช่วงที่ผู้บริหารทั้งสองยังเรียนปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จนถึงตอนนี้มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้งหมด 4 แบรนด์ อาทิ

  • ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi) 56 สาขา
  • นักล่าหมูกระทะ (Nak-La Mookata) 12 สาขา

ล่าสุดเปิด 2 แบรนด์ใหม่ คือ นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟ่ต์ (NAMA Japanese and Seafood Buffet) 1 สาขา และคัตสึมิโดริ ซูชิ (Katsu Midori Sushi) 1 สาขา รวมทั้งหมด 70 สาขา 

ส่วนเส้นทางการเติบโต ปี 2565 รายได้ 797 ล้านบาท มีกำไร 64 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 รายได้ 1,415 ล้านบาท กำไร 116 ล้านบาท ทั้งสองผู้บริหารกล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ปี 2567 สามารถปิดรายได้รวมได้ถึง 2,100 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 50% ด้วยการนำเสนอเมนูที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง 

ปี’68 เชื่อธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโต

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังคาดการณ์ตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2668 มองว่ายังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยให้เติบโต สร้างความประทับใจ และประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า พร้อมมุ่งสู่การเติบโตที่แข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์ผลักดันการเติบโตตามเป้าหมาย อาทิ ลุยขยายสาขาแบรนด์ต่าง ๆ เพิ่ม 16 สาขา

โดยตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 2,800 ล้านบาท และภายใน 5 ปี จะมียอดขาย 5,000 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตจะมาจากการมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเติมพอร์ต 

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนารูปแบบการบริการร้าน นามะ เจแปนนิส ซีฟู้ด แอนด์ บุฟเฟ่ต์ ด้วยการขยายพื้นที่ขายโซนเอ้าท์ดอร์ (Outdoor) เพิ่มเติม พร้อมเปิดบริการในรูปแบบอิซากายะ (Izakaya)

ขยายช่องทางการขาย Channel O2O (ONLINE TO OFFLINE) เพื่อเพิ่มช่องการการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada, TikTok Shop, Line My Shop ที่ช่วยให้ขายสินค้าได้ง่าย รองรับพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ที่ชอบความสะดวก 

และระบบสมาชิก (Loyalty Program) เพื่อสร้างฐานลูกค้าประจำ ซึ่งแบรนด์มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ด้วยแต้มสะสม และสิทธิพิเศษเฉพาะสมาชิก เช่น ส่วนลด หรือโปรโมชั่นเฉพาะสมาชิก 

ขยายแบรนด์สู่ต่างจังหวัด

โดยเป้าหมายระยะยาว ตั้งเป้าการขยายสาขาแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ จะเน้นการเปิดสาขาไปต่างจังหวัดมากขึ้น ส่วนแบรนด์นักล่าหมูกระทะ ในช่วงปีนี้จะยังเน้นขยายในโซนกรุงเทพเป็นหลัก และยังคงมองหาโอกาสการขยายตลาดใหม่สู่ต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งภาพรวมของ 2 แบรนด์นี้วางแผนว่าจะขยายสาขาให้ได้ทั่วประเทศ

เปิดตัวแบรนด์ใหม่ซูชิสายพาน "คัตสึมิโดริ ซูชิ"

นอกจากนี้ คัตสึมิโดริ ซูชิ (Katsu Midori Sushi) แบรนด์น้องใหม่ เป็นร้านซูชิสายพานอันดับ 1 จากโตเกียว ที่เปิดให้บริการมากว่า 23 ปี (ตั้งแต่ปี 2545) ได้นำมาเปิดสาขาแรกในไทยที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยสาขาที่ประเทศไทยเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก (พื้นที่กว้างกว่า 700 ตารางเมตร สามารถรองรับลูกค้าได้ทั้งสิ้น 248 ที่นั่ง)

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของ เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป ที่ได้แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งจากโตเกียวมาเปิดที่ประเทศไทย ด้วยมองเห็นโอกาสว่าตลาดซูชิสายพานพรีเมียมแมสยังมีคู่แข่งในตลาดค่อนข้างน้อย และยังสามารถเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่คุ้มค่า คุ้มราคา ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ กลุ่มลูกค้าที่ชอบทานซูชิพรีเมียม หรือกลุ่มลูกค้าที่ชอบทานซูชิสายพาน รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เคยไปทานที่ประเทศญี่ปุ่น และรู้จักร้านคัตสึมิโดริ ซูชิ เป็นอย่างดี

อีกทั้งแบรนด์มีความโดดเด่นในเรื่องของวัตถุดิบที่มีความสดใหม่ และคุณภาพดี เพราะคอนเซ็ปต์คือ ต้องเหมือนยกสาขาที่ประเทศญี่ปุ่นมาไว้ที่ประเทศไทย จึงนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่นมาแทบจะทั้งหมด เช่น ปลาสด หอยสด ปลาทูน่า ที่นำเข้าด้วยการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight) ส่งตรงจากตลาดปลาโทโยซุ (Toyosu Fish Market) ทุกสัปดาห์

และอีกไฮไลท์ของแบรนด์คือ การเอนเตอร์เทนลูกค้า ทั้งการนำเสนอขายแบบช่วงนาทีทอง, บริการรูปแบบสายพานโอมากาเสะ(Omakase) ที่ทุกออเดอร์เชฟจะเสิร์ฟส่งให้ทานกับมือ ให้ความรู้สึกเหมือนทานโอมากาเสะ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย และเมนูไฮไลท์อิคุระหน้าล้น ที่เมื่อลูกค้าสั่ง ทั้งร้านจะมีการกล่าวขอบคุณ และปรบมือให้เป็นจังหวะสร้างสีสันให้ร้านเป็นอย่างมาก

โดยหลังจากได้เปิดให้บริการไปตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ลูกค้าให้การตอบรับอย่างล้นหลาม ซึ่งต้องขอบคุณผู้บริหาร คัตสึมิโดริ ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้นำแฟรนไชส์มาเปิดในประเทศไทย ด้วยมองเห็นศักยภาพจากความสำเร็จในการบริหารแบรนด์ของบริษัทฯ ซึ่งเมื่อได้ร้านซูชิสายพานพรีเมียมมาเติมเต็มอีกประเภท ทำให้สามารถขยายสู่กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของบริษัทฯ แข็งแกร่งขึ้น 

ตั้งเป้าว่าภายใน 2-3 ปี แบรนด์จะเติบโต และสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง มีขยายสาขาเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 สาขาต่อปี เน้นพื้นที่ในโซนกรุงเทพฯ เป็นหลัก เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้น และก้าวขึ้นเป็น Top of Mind ของร้านซูชิสายพานในประเทศไทย