posttoday

คลัง ได้กฤษ์ชง "หวยเกษียณ" เข้าครม.พ.ย.นี้ ดีเดย์ขายภายในไตรมาส1/68

31 ตุลาคม 2567

เผ่าภูมิ รมช.คลัง เผยเตรียมเสนอครม.ไฟเขียว หวยเกษียณ ในเดือนพ.ย.นี้ มั่นใจช่วยรักษาเสถียรภาพ ลดภาระทางการคลังได้ระยะยาว ประชาชนมีหลักประกันทางรายได้ คาดเริ่มจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 1/2568 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ “สลากออมทรัพย์เพื่อการเกษียณ (หวยเกษียณ)” ว่า คาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือน พ.ย. 2567 หลังจากนั้นจะเป็นไปตามกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายหวยเกษียณได้ภายในไตรมาส 1/2568 

      
     ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กอช. โดยเฉพาะการปรับปรุงเงื่อนไขในการขยายอายุผู้มีสิทธิ์ซื้อหวยเกษียณ จากเดิมกำหนดที่ 15-60 ปี เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ก็สามารถซื้อหวยเกษียณได้ แต่จะต้องถือบัญชีซื้อหวยเกษียณไว้ต่อเนื่อง 10 ปี จึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้ และหากกรณีเสียชีวิต เงินดังกล่าวจะตกเป็นมรดกให้กับทายาท หรือผู้ได้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ 
 

ความคืบหน้าตอนนี้ คือ ต้องรอความเห็นของ กอช. ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ กอช. ในวันที่ 11 พ.ย. นี้ หลังจากนั้นจะนำความเห็นและรายละเอียดทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยมั่นใจว่านโยบายนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพ และลดภาระทางการคลังของภาครัฐในระยะยาว ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงด้านรายได้ เมื่อเกษียณอายุ

      สำหรับหวยเกษียณนั้น จะมีลักษณะเป็น สลากขูดดิจิทัล จำหน่ายใบละ 50 บาท ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ออกรางวัลทุกวันศุกร์ เงินรางวัล แบ่งเป็น รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท จำนวน 5 รางวัล และ รางวัลที่ 2 มูลค่า 1,000 บาท จำนวน 10,000 ราววัล โดยผู้ถูกรางวัลจะได้รับเงินภายในวันถัดไป และหากรางวัลออกไม่ครบ จะทบไปงวดถัดไป 

 

      อย่างไรก็ดี นายเผ่าภูมิ ยังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วินัยการออม เสาหลักสู่ความยั่งยืนในสังคมไทย” ในงานวันออมแห่งชาติ ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะแก่ก่อนรวย ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากวัยแรงงานลดลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐลดลง และค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุสูงขึ้นแบบขั้นบันได ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องบริหารจัดการ โดยการกระจายรายได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

 

      โดยโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้ในวัยเกษียณที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่กลายเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม 

 อยากให้คนไทย ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการเกษียณ อย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเริ่มต้นเร็วย่อมได้เปรียบ เพราะขณะนี้ครัวเรือนไทย ตระหนักถึงการออมค่อนข้างต่ำ มีพฤติกรรมจ่ายก่อนและออมทีหลัง ซึ่งเงินออมที่ไม่เพียงพอ ทำให้คนยากจนในวัยเกษียณ และเกิดความไม่ยั่งยืนทางการคลังของรัฐ