"คลัง" พร้อมให้ความร่วมมือ DSI สาวคดี "ดิไอคอน กรุ๊ป"
"จุลพันธ์" ลั่น พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ หลัง DSI ขอความเห็น ดิ ไอคอน กรุ๊ป เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ด้าน สศค. เผย ฟันผิดฉ้อโกงได้ต้องเข้า 3 เงื่อนไข เผยเร่งเดินหน้ารื้อกฎหมายฉ้อโกงเพื่อให้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุด
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึง กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่า อยู่ระหว่างรอความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เพื่อพิจารณาการเอาผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกลประชาชน(แชร์ลูกโซ่) ผู้บริหารบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัดว่า ในส่วนของกระทรวงการคลังพร้อมให้ความร่วมมือกับ DSI อย่างเต็มที่เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน
DSI ขอความเห็นมายังกระทรวงคลัง เราก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสศค.เพราะเป็นผู้ถือกฎหมายต้องดำเนินการ
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ทาง DSI ได้ประสานมายังกระทรวงการคลังถึงการพิจารณาว่า มีลักษณะเข้าข่ายความผิดคดีฉ้อโกงหรือไม่ รวมถึงขอความร่วมมือทางกระทรวงการคลังให้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมอยู่ในคณะสอบสวนคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งทางกระทรวงการฯ ก็ต้องพิจารณาตามข้อมูลต่างๆ และต้องอยู่บนข้อเท็จจริง รวมถึงของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งในส่วนนี้มีเงื่อนไขสำคัญพร้อมกันในการพิจารณาอยู่ 3 ประการ ประกอบด้วย
1.การโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนเท่าไร
2.การกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
3.ไม่ได้ประกอบอาชีพการซื้อขายจริง แต่นำเงินมาจากที่อื่นมาจ่ายให้กับผู้เสียหาย
ซึ่งความผิดกฎหมายฉ้อโกง หรือพิจารณาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่นั้น ต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ ซึ่งส่วนนี้ สศค.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ ที่มีความเชียวชาญ น่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ในเรื่องตรวจสอบไปช่วยDSI ในการสอบสวนต่างๆ เราก็ยินดีที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลเรื่องนี้ให้กับรัฐบาล
สำหรับการเอาผิดแม่ข่ายระดับกลาง ไปจนถึงระดับร่างนั้น ซึ่งที่ผ่านมาค่อยข้างเอาผิดได้ยากนั้น ต้องยอมรับว่า เป็นการทำธุรกิจในปัจจุบัน มีรูปแบบใหม่ๆ มีความซ้ำซ้อนมากขึ้น ขณะที่ตัวพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน นั้นออกใช้ตั้งแต่พ.ศ. 2527 จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาแก้ไขตัวบทกฎหมายกันใหม่ เพื่อให้ทันสมับ ครอบคุลม และสอดคล้องทันสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น
ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายทางรมว.คลังก็ได้ให้นโยบายมาแล้วว่าให้ทบทวนเพื่อให้เป็นปัจจุบันและทันท่วงทีเพื่อดูแลผู้เสียหายได้สูงสุด ซึ่งอีกส่วนหนึ่งในทางกฎหมายก็ได้มีการพูดคุยกับทางกฤษฎีกา DSI สคบ. ว่าPain Point คืออะไร และตรงไหนที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงบ้าง โดยจะเสนอให้เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดูแลพี่น้องประชาชน ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การออกเป็นพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงฯ ยังมีความเหมาะสมมากกว่าการออกเป็นพ.ร.บ. ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันท่วงที ส่วนการกำหนดบทลงโทษจะขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทบกับประชาชน ซึ่งการยกร่าง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฉบับใหม่นี้ กระทรวงจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด