“TDRI ห่วงปมนักร้องสอยนายกฯ ทำรัฐบาลใหม่ “อายุสั้น"
TDRI หวั่นนักร้องสอยนายกฯ ทำอายุรัฐบาลใหม่อายุสั้น ห่วงฉุดความเชื่อมั่น กระทบการขยายตัวเศรษฐกิจไทย พร้อมฝากโจทย์เร่งด่วน สางหนี้ครัวเรือน -ยุติแจกเงินหมื่น ล็อต2 หนุนแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน เพื่อนำงบฯไปใช้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หนุนเติบโตระยะยาว
หลักจากที่รอมานาน วันนี้(4ก.ย.67) ไทยได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศเสียที ซึ่งนอกจากภาคเอกชนที่รอคอยการจัดตั้งรัฐบาล และพร้อมส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่แล้ว ฝากฝั่งนักวิชาการ ก็มีข้อเสนอรวมถึงโจทย์ ฝากฝังถึงรัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการด้วยเช่นกัน
โดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวภายหลังเห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้รัฐบาล ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร (ครม.อิ๊งค์1/1) ว่า เรื่องแรกมีความเป็นห่วงรัฐบาลใหม่ว่าจะมีอายุสั้น เนื่องจากกังวลว่า นายกฯ จะโดนร้องเรียนในปมต่างๆ ที่ส่งผลให้ต้องหลุดจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการบริหารประเทศ และความเชื่อมั่น ย่อมส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้สะดุดลง
ส่วนเรื่องที่ 2 ที่มีผลต่ออายุการทำงานของรัฐบาล เป็นเรื่องของการทำงาน คือ คิดว่าการทำงานมันทำกันเป็นทีม จึงขึ้นอยู่กับว่าทีม ที่เข้ามาทำนั้นแข็งขนาดไหน การเมืองที่ต้องอาศัยการรวมเสียงเล็กๆ ทำให้ต้องกระจายเก้าอี้กันมาก ผลงานก็จะทำได้ดีระดับนึงเท่านั้น ซึ่งในเรื่องของเสถียรภาพ มองว่าถ้านายกฯไม่โดนร้องก็น่าจะอยู่กันยาวๆ เพราะเลือกตั้งรอบหน้าไม่รู้จะออกมายังไงก็คงอยู่กันไป สลับครม. กันไป
“หากเป็นเช่นนั้น แม้ว่าจะมีรัฐบาลรักษาการในแต่ละตำแหน่ง แต่ก็เป็นการดำเนินการเฉพาะหน้าและเท่าที่จำเป็น เรื่องสำคัญๆ ใหญ่ๆ ก็จะรอรัฐมนตรีใหม่เข้ามา ดังนั้นการขับเคลื่อนงานพอไปได้ แต่ส่วนที่สำคัญๆก็จะเกิดความล่าช้าส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแน่นอน ซึ่งต้องติดตามว่ารัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน กับการทำได้ดีแค่ไหน สิ่งที่กังวลใจคือ จะโดนนักร้องสอยก่อนรึเปล่าซึ่งเดาได้อยาก” ดร.นณริฏ กล่าว
ส่วน การกลับมาของ นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง และรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ รวมถึงนาย จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีชุดเดิมทั้งหมดของพรรคเพื่อไทยนั้นมองว่า เพื่อเข้ามาสานต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธง ที่ต้องทำให้ได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อยากขอฝาก 2 นโยบายเร่งด่วน ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ
1.การแก้หนี้ครัวเรือน โดยออกเป็นมาตรการเร่งด่วย เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยถือเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้
2.ขอให้ทบทวนการแจกเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต คือ โดยแจกให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 14 ล้านคนเท่านั้น โดยนำงบประมาณที่เหลือมาคืนให้กับโรงการต่างๆที่จำเป็นมาใช้ในการปรับโครงสร้างให้กับเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะสร้างความเติบโตระยะยาวให้กับเศรษฐกิจไทยได้มากกว่า
“อยากให้ยุติแจกเงินดิจิทัลในเฟส 2 และ 3 เนื่องจากเฟสที่ 1 ได้แจกคนถือบัตรสวัสดิการไปแล้ว ซึ่งจากตัวเลทางเศรษฐกิจ บ่งชี้ว่า เพียงพอกับเกิดการกระตุ้นแล้ว โดยผลกระทบที่น่ากังวลใจ คือ การกันเงินงบประมาณจากกิจกรรมอื่นๆ มาใช้ ทำให้การขับเคลื่อนงานต่างๆ ซึ่งทำได้ยากเพราะถูกตัดงบให้น้อยลง เงินที่เหลือก็คืนงบให้โครงการต่างๆไปดำเนินการ และบางส่วนเอามาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว พร้อมกับเร่งแก้หนี้” ดร.นณริฏ กล่าว