posttoday

55 ปี กฟผ.ปูทางสู่พลังงานสะอาด สร้างบริบทใหม่แห่งความยั่งยืน

04 พฤษภาคม 2567

เมื่อพลังงานสะอาดคือคำตอบของ “พลังงานแห่งอนาคต” ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ทั่วโลก กำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ กฟผ. จึงพร้อมเดินหน้าในทิศทางเดียวกันกับกระแสโลก นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

โลกอนาคตที่หลายสิ่งเกิดขึ้นกับโลกใบนี้เกินกว่าจะคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด หรือแม้กระทั่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกรวน ล้วนเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศตระหนักและให้ความสำคัญกับคำว่า “ความยั่งยืน” มากขึ้น เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่สั่งสมความเชี่ยวชาญการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยมาถึง 55 ปี เพื่อเป็นการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนไทย 

ทั้งนี้ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ” (Hydro-Floating Solar Hybrid) ในพื้นที่ 9 เขื่อนของ กฟผ. รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ โดยผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และแบตเตอรี่ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ 

55 ปี กฟผ.ปูทางสู่พลังงานสะอาด สร้างบริบทใหม่แห่งความยั่งยืน

สำหรับ โครงการ Hydro-Floating Solar Hybrid ของ กฟผ. เน้นให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1.ต้นทุนแข่งขันได้ กฟผ. ได้ใช้พื้นที่ผิวน้ำของเขื่อน กฟผ. ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการจัดหาที่ดิน พร้อมทั้งออกแบบใช้อุปกรณ์ร่วมกับโรงไฟฟ้าเดิม อาทิ หม้อแปลง สายส่ง ให้ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่โครงการดังกล่าวนั้นมีขนาดใหญ่ที่เป็น Economy of Scale ทั้งการเลือกใช้พื้นที่และการออกแบบดังกล่าว ส่งผลให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้

2.เทคโนโลยี กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพของระบบไฮบริด เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น จ่ายไฟฟ้าได้นานขึ้น โดยหลักที่วางไว้คือการใช้ระบบ Integrated Renewable Firm Power System (IRFPS) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ Flexibility สร้างความยืดหยุ่นให้ระบบผลิตไฟฟ้า โดยนำระบบไฮบริดมาใช้จ่ายไฟฟ้าร่วมกันทั้งพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ Stability สร้างเสถียรภาพให้ระบบผลิตไฟฟ้า โดยเตรียมนำแบตเตอรี่เข้ามากักเก็บพลังงานในส่วนที่เหลือจากตอนกลางวัน และไปเสริมระบบตอนกลางคืนร่วมกับพลังน้ำ และ Security สร้างความมั่นคงให้ระบบผลิตไฟฟ้า โดยควบคุมพลังงานหมุนเวียนทั้งประเทศด้วยรูปแบบเดียวกันจากศูนย์ RE Control Center ซึ่งในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีทันสมัย เช่น AI เข้ามาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

3.สังคมและสิ่งแวดล้อม กฟผ. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงใช้พื้นที่ผิวน้ำที่ไม่กระทบต่อพื้นที่การเกษตร เลือกใช้ทุ่นลอยน้ำที่เป็นทุ่นพลาสติก HDPE เกรดเดียวกันกับท่อประปา ซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบและ สร้างแลนด์มาร์คทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้ชุมชน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังมี Energy Management System (EMS) ซึ่งเป็นหัวใจของการบริหารจัดการระบบไฮบริด มีหลักการทำงาน 3 ส่วน คือ Data Integration, Data Analysis และ Automation โดยเป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วนำไปควบคุมระบบไฮบริดดังกล่าว ซึ่ง กฟผ. ได้เพิ่มระบบพยากรณ์อากาศเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น โดยจะทำให้ทราบล่วงหน้าได้ว่าพื้นที่จะมีความเข้มแสงเท่าไร และจะทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากน้อยเท่าไร

รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้ทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และแสวงหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดให้กับประเทศในอนาคต

แม้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนตามสภาพอากาศ ดังนั้น เมื่อมีการเชื่อมต่อพลังงานหมุนเวียนเข้าในระบบไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก ก็อาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้า หรือ Grid มีเสถียรภาพและความมั่นคงลดลง จึงมาสู่การแก้ปัญหาด้วยการจัดการพลังงานภาพรวมของระบบไฟฟ้า ซึ่งจุดนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น โดยการทำ Grid Modernization ตั้งแต่ระบบการผลิต ระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า ให้สามารถจัดการพลังงานไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว จะทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้นมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ซึ่งวิธีหนึ่งของการทำ Grid Modernization นั่นก็คือ การนำระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System; BESS) เข้ามาใช้งานนั่นเอง

55 ปี กฟผ.ปูทางสู่พลังงานสะอาด สร้างบริบทใหม่แห่งความยั่งยืน

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการให้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้อีวี และสนับสนุนให้การมาถึงของยุคยานยนต์ไฟฟ้าเกิดได้รวดเร็วขึ้น

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีคือตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อการผลิตไฟฟ้า ให้เราสามารถก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ในอนาคต และ กฟผ. มีความพร้อมในการจัดการพลังงานทั้งระบบ รวมถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและมั่นคง ควบคู่ไปกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อโลกที่ยั่งยืน