posttoday

คำต่อคำ “สมโภชน์ อาหุนัย” เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17

29 กุมภาพันธ์ 2567

เปิดใจ “สมโภชน์ อาหุนัย” เน้นนโยบายเชิงรุก สร้างความสามัคคี ความเท่าเทียมทุกอุตสาหกรรมทุกจังหวัด หวังเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

     บรรยากาศก่อนการเลือก "ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วาระปี 2567-2569" ถือว่าร้อนแรงและสัมผัสได้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากที่เคยเป็นมาอย่างเห็นได้ชัด อาจเนื่องด้วยเก้าอี้ดังกล่าวค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมไทย การนำเสนอนโยบายสำคัญไปยังรัฐบาล หรือ บทบาทคณะกรรมการ ทั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) และ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เป็นต้น

     สิ่งที่ต้องติดตามคือ การเลือกตั้ง "กรรมการ สภาอุตสาหกรรมฯ" ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 เพราะหากภาพของทีมกรรมการชัดเจนว่าใครเป็นใคร อาจจะพอคาดเดาได้ว่าใครจะมีโอกาสได้ครองเก้าอี้ประธานฯได้ นั่นเพราะว่า"กรรมการ"จะเป็นตัวแทนสมาชิกในการเลือก "ประธาน สภาอุตสาหกรรมฯ" นั่นเอง คาดว่าน่าจะเห็นหน้าตาของประธานฯได้ภายในเดือน เมษายนนี้

       ซึ่ง "กรรมการ"ที่มีสิทธิลงคะแนน ประกอบด้วย 1.กรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง 2.กรรมการแต่งตั้งจากกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และ 3.กรรมการแต่งตั้งจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด

     ปัจจุบัน “นายเกรียงไกร เธียรนุกูล” ดำรงตำแหน่ง ประธาน ส.อ.ท. วาระ 2565-2567 ในวาระที่ 1 และได้เสนอตัวนั่งต่ออีก 1 วาระ ซึ่งตามธรรมเนียมปกติมักจะเป็นเช่นนั้น นั่นคือ "ประธาน ส.อ.ท." สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้อีก 1 วาระ หรืออีก 2 ปีนั่นเอง 

     แต่.. การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ง่าย เพราะมีผู้ท้าชิง นั่นก็คือ “นายสมโภชน์ อาหุนัย” ในฐานะสมาชิกและรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA โดดเข้าร่วมชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ

คำต่อคำ “สมโภชน์ อาหุนัย” เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17      วันนี้(29 ก.พ.67) นายสมโภชน์ อาหุนัย กล่าวเปิดใจถึงการเข้าชิงเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า วันนี้ผมพร้อมที่จะลงสมัครตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17 (ปี 2567-2569) นี่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะนำความรู้ความสามารถของผมมาแบ่งปันและมาช่วยเพื่อนๆสมาชิกในอุตสาหกรรมอื่นๆ

     อีกทั้งอยากเป็นคนที่จะนำเสนอและเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่จะเชื่อมระหว่างสภาอุตสาหกรรมฯกับทางภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ Thailand Team ที่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อทำให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางในวันนี้

    "ผมอยากเห็น สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นที่พึ่งหลักของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการที่เขาจะพึ่งเราได้ เราก็ต้องแข็งแรงจากภายในก่อน และเราต้องมีไอเดียที่ดีที่ปฏิบัติได้ และต้องเป็นแขนขาให้กับภาครัฐในการทำนโยบายภาครัฐประสบความสำเร็จ เป็นรูปธรรม

     สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดต้องเริ่มจากภายในก่อนว่าคนที่อยากมาทำต้องมีจิตอาสาเพราะการที่เราจะประสานผลประโยชน์ของหลายๆกลุ่มได้ คนนั้นต้องเป็นคนที่มีจิตอาสาและต้องเป็นคนที่มีใจเป็นกลางจริงๆ ยึดประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และต้องเป็นคนที่พูดแล้วทุกคนยอมรับ ถ้าทำอย่างนี้ได้สภาอุตสาหกรรมฯก็จะเป็นหนึ่งเดียว และจะมียุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งและชัดเจน 

     ที่สำคัญต้องเป็นคนที่จะคุยกับรัฐบาลหรือรับนโยบายรัฐบาลแล้วต้องมาแจกแจงว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้เป็นรูปธรรม เป็นแขนขาให้ได้ วันนี้เราจำเป็นที่จะต้องมีคนแบบนี้ และผมเชื่อว่าผมพร้อมที่จะเป็นคนๆนี้ถ้าสภาอุตสาหกรรมฯยังไม่มีแคนดิเดตคนไหนที่จะทำตรงนี้ได้ ผมยินดีที่จะทำ แต่ถ้าสภาอุตสาหกรรมฯมีคนที่ดีกว่าในบานะที่ผมเป็นสมาชิกคนหนึ่งผมยินดีที่จะสนับสนุนคนๆนั้น เพราะวัตถุประสงส์เหมือนกัน ผมก็อาจจะเป็นแขนขาของคนๆนั้นก็ได้ถ้าคนนั้นดีกว่า 

     วันนี้ไม่ใช่เป็นการทะเลาะ หรือมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่เป็นการช่วยกันว่าจะทำอย่างไรให้สภาอุตสาหกรรมฯเจริญรุ่งเรือง เป็นเสาหลักของประเทศ เป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกทุกคน"

คำต่อคำ “สมโภชน์ อาหุนัย” เปิดศึกชิงเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. คนที่ 17

 

     ถามว่า นโยบาย "ทีมสมโภชน์" เป็นอย่างไร ?

     นโยบายจากนี้ ผมอยากเห็นความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของสภาอุตสาหกรรมฯมีความสมัครสมานสามัคคีและอยากเห็นความเท่าเทียมระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆทั้งในจังหวัดหรือต่างจังหวัดหรือส่วนกลาง ทุกคนต้องร่วมมือกันและทำประโยชน์สูงสุดของสภาอุตสาหกรรมฯและประเทศชาติร่วมกัน ซึ่งผมจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการที่จะประสานเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสมาชิกต่างๆ เพื่อให้เกิดบทสรุปที่ชัดเจน และนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

     ดังนั้นจึงเน้นนโยบายเชิงรุก ด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน 

     2. สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 

     3. ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า 

     และ 4. นำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มีมาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

     "เรื่องนี้เป็นอุดมการณ์ที่ผมมีมาตั้งนานแล้วคืออยากสร้างประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ ผมเคยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจนกระทั่งปัจจุบันทำหน้าที่บริหารธุรกิจในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ต้องการนำเสนอไอเดียที่มีเพื่อให้เกิด Impact มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่า สภาอุตสาหกรรมฯคือแกนหลักของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราไม่ควรอยู่ในสภาพตั้งรับควรอยู่ในเชิงรุก เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป มีทั้งที่ต้องการรับการส่งเสริมสนับสนุนหรือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชื่อมกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมให้บรรลุผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการแล้วยังตอบสนองภาครัฐให้บรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้"

 

     ถามว่า.. ตอนนี้มีสมาชิกให้การสนับสนุนครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน?

     ผมไม่ทราบเหมือนกัน แต่น่าจะพอมี ผมมองว่าวันนี้แค่ได้มีโอกาสมาพูด มาให้ไอเดีย สิ่งที่ผมจะชนะไม่ได้ชนะว่าผมได้เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมฯหรือไม่ แค่ไอเดียของผมมีใครนำไปทำ ผมถือว่าชนะแล้ว และยิ่งถ้ามีคนเก่งกว่านำไปทำ และผมได้สนับสนุนยิ่งทำให้มีความสุขมาก ผมจะดีใจที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และไม่ต้องเหนื่อย ผมเป็นผู้สนับสนุนที่ดี "เราต้องรู้จักเล่นเป็นทั้งผู้นำที่ดีและผู้ตามที่ดี" เพียงแต่ว่า ถ้าไอเดียดีแต่ไม่มีใครทำ ผมจะทำ เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า "คุณเอาแต่พูด ไม่ทำจริง อย่างนั้นคุณก็พูดไป ฉะนั้นผมจะทำ" 

     "การมาครั้งนี้ผมไม่ยึดติดว่าจะต้องเป็นอะไร มันจะมีการขัดแย้งได้ยังไง ผมยังมองไม่เห็นเลยว่าผมจะไปขัดแย้งกับใครได้ยังไง เพราะผมไม่คิดจะขัดแย้งกับใคร และผมไม่ยึดติดอะไร ทุกอย่างยืดหยุ่นได้"

 

     ถามว่า.. ทำไมไม่รออีก 2 ปีจึงค่อยลงสมัครประธานฯ           

     ขอย้ำอีกครั้งว่า วันนี้ผมไม่ได้มาสร้างความขัดแย้ง ผมมาเพื่อเสนอยุทธศาสตร์ที่สร้างสรรเพื่อสมาชิกทุกคน ถามว่าทำไมไม่เสนออีก 2 ปีข้างหน้า มี 2 เรื่อง คือ 1. ประเทศไทยรอไม่ได้ ทุกคนรู้ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไม่ดี เราควรปรับทันที ไม่ใช่ปล่อยให้ลุกลามบานปลายก่อนจึงค่อยทำอะไร นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมผมถึงเสนอตัวในการสมัครครั้งนี้ ซึ่งผมอยากแสนอว่าเราควรทำอะไร อย่างไรบ้าง 

     และ 2. การเลือกตั้งครั้งนี้ ผมไม่คิดว่าจะสร้างความแตกแยกใดๆ สมมุติว่าผมได้เป็นประธานฯ ผมพร้อมสนับุสนุนทุกคน Service (บริการ) ทุกคน ซึ่งคำว่า Service ไม่ใช่คำสั่ง ดังนั้นนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งแน่นอน 

     "ผมยังเคารพพี่ไก่ เกรียงไกรเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมยอมรับผลการเลือกตั้งเสมอ ในประวัติศาสตร์ประธานสภาอุตสาหกรรมฯหลายท่านอยู่ในวาระ 1 เทอม หรือ 2 ปี สิ่งที่อยากบอกคือเราต้องยึดประเทศเป็นหลัก วันนี้เป็นจังหวะที่ต้องเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าวันนี้ต้องเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนแนวทาง ก็ต้องเปลี่ยนทันทีหรือไม่ ไม่ใช่ต้องรออีก 2 ปี หรือ 4 ปีถึงค่อยเปลี่ยนแปลง"