posttoday

งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่

28 พฤศจิกายน 2566

เปิดผลกระทบหลัง “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล” รักษาการเลขาธิการกสทช.เซ็นโยกย้ายพนักงาน หวั่นกระทบการทำงานด้านโทรคมนาคม-แผนวิทยุดิจิทัล

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ให้พนักงานพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทน รวมถึงการย้ายและแต่งตั้งใหม่กว่า  69 คน ได้แก่ พนักงานเป็นผู้รักษาการแทน กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งจำนวน 16 คน ,คำสั่งย้ายและแต่งตั้งพนักงาน จำนวน 28 คน,คำสั่งย้ายและแต่งตั้งพนักงาน จำนวน 18 คน และคำสั่งให้พนักงานพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทน กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง จำนวน 7 คน มีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2567 นั้น

งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่

แหล่งข่าวจากกสทช.ระบุว่า คำสั่งดังกล่าว มีผลกระทบต่อสายงานด้านกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว มีผลทำให้นางสาวพูลศิริ นิลกิจศรานนท์ รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม (ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง) มีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุน ขับเคลื่อนนโยบาย/ภารกิจสำคัญของ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม จำนวน 11 เรื่อง ได้แก่ 

1.เรื่อง  Cell Broadcast หรือ ระบบการเตือนภัยพิบัติที่อยู่ระหว่างการร่างวาระเสนอต่อที่ประชุมกสทช.ภายในไตรมาส 1/2567 เพื่อลงมติสนับสนุนงบประมาณ สำหรับหน่วยงานกลางที่รัฐบาลมอบหมาย และงบประมาณลงทุนระบบ ผ่านกองทุน กทปส. สำหรับให้ผู้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ที่ลงทุนระบบดังกล่าวสามารถเบิกงบประมาณผ่านกองทุนได้

2.นโยบายเรื่องคลื่น 3500 MHz สำหรับ Private 5G โดยมีเป้าหมายทำโฟกัส กรุ๊ป ส่วนกลางภายในไตรมาส1/2567 และส่วนภูมิภาคภายในไตรมาส 2/2567 เพื่อจัดสรรคลื่น 3600-3700 MHz จำนวน 100 MHz ภายในไตรมาส4/2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการหารือกับ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ขนาดใหญ่ 2 ราย ขนาดกลาง 3 ราย และการหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วย

3.คลื่น 3500 MHz สำหรับ IMT โดยมีเป้าหมายในการวางโรดแมป 5 ปี ให้เสร็จภายในไตรมาส1/2567 รวมถึงการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์คลื่น 3700-4200 MHz ภายในปี 2568 และการจัดสรรคลื่น 3300-3600 MHz จำนวน 300 MHz ภายในปี 2569-2570 การจัดสรรคลื่น 3700-4000 MHz จำนวน 300 MHz ในปี 2571-2572  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ให้บริการรายใหญ่ 2 ราย และสำนักงานกสทข.อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงาน รวมถึงการวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งดีมานด์ ซัพพลาย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน ม.ค. 2567

งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่  4.แผน 5.5G toward 6G & upper C band (6.425 – 7.125 GHz) for IMT เพื่อทำบทวิเคราะห์และการกำหนดโรดแมป 10 ปี ของคลื่นดังกล่าวที่ต้องแล้วเสร็จภายในไตรมาส4/2567

5. สิทธิแห่งทาง การจัดระเบียบสายสื่อสาร/นำสายสื่อสารลงดิน และ Last Mile License (LML) โดยมีแผนปรับปรุงแผนจัดระเบียบสายสื่อสาร/นำสายสื่อสารลงดินปี 2566-2567 ภายในไตรมาส1/2567รวมถึงการจัดทำร่างประกาศ Last Mile License (LML) ภายในไตรมาส1/2567

6.การส่งเสริม MVNO และปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ภายใน ประเทศ ทั้งค้าส่งและค้าปลีก มีแผนแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ภายใน ไตรมาส2/2567 ได้แก่

- บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน

- การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สาย

- การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายภายในประเทศ

- มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

- อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

- การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

7.อัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายประเภทข้อมูล (IC Data) มีแผนออกร่างประกาศใหม่ฯ ภายในไตรมาส2/2567 

8. แผนแม่บทโทรคมนาคม (แผน 3) 2567 ถึง 2571 มีกำหนดเสนอ กสทช. ภายในไตรมาส4/2566 

9.การป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม

10.การจัดระเบียบการใช้งานวิทยุคมนาคมทางทะเล

11. แผนการทำ 5G Use Cases สำหรับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 4.0 และโครงการ 5G Use Cases สำหรับลดความเหลื่อมล้ำ มีแผนจะเสนอทั้ง 2 โครงการภายในไตรมาส 2/2567

งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่ แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม พ้นจากการทำหน้าที่ โดยไม่ได้มีการหารือกับรองเลขาธิการ สายงานกิจการโทรคมนาคม ย่อมส่งผลกระทบต่อภารกิจของสายงานกิจการโทรคมนาคม ที่ได้รับมอบนโยบายและภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและหลายด้าน รวมถึงประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานประกอบกัน เพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้ 

อีกทั้งการโยกย้ายบุคลากรด้านสายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มาทำหน้าที่รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม สะท้อนถึงความไม่เข้าใจและสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรของผู้บริหารหรือผู้สั่งการ

นอกจากนี้ การโยกย้าย ผู้อำนวยการสำนักบริหารคลื่นความถี่ แม้ว่าจะอยู่ในสายงานบริหารองค์กร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสายงานกิจการโทรคมนาคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกต่างทราบกันเป็นอย่างดีว่าคลื่น 3500 MHz มีความสำคัญเป็นอย่างมากในบริบท Digital Transformation ซึ่งนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

การโยกย้าย ผู้อำนวยการสำนักบริหารคลื่นความถี่ ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำถึงความไม่เข้าใจและสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรของผู้บริหารหรือผู้สั่งการ

นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังได้โยกย้ายนางปาริตา วงศ์ชุตินาท จาก ผู้อำนวยการวิศวกรรมและเทคโนโลยีในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ไปเป็น ผู้อำนวยการสำนักกิจการภูมิภาค สายงานภูมิภาค เป็นการกระทำซึ่งถือว่าขัดต่อนโยบายการดำเนินงานตามมติของ กสทช. และ นโยบายด้านกระจายเสียงโดยตรง

งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่

เนื่องจาก กสทช. เพิ่ง มีมติในเรื่องการปรับปรุงแผนวิทยุในระบบเอฟเอ็ม และ ให้นำไปรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนนโยบาย  ตามแผนแม่บทด้านกิจการกระจายเสียงที่ให้เร่งรัดจัดทำแผนความถี่วิทยุในระบบดิจิทัลโดยเร็ว เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศที่จะต้องยุติการออกอากาศในธ.ค. 2567 นี้ ไปสู่การได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องหลักและเป็นนโยบายเร่งด่วน 

ดังนั้น การโยกย้ายพนักงานที่เกิดขึ้นตามคำสั่งสำนักงาน กสทช. ดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารระดับผู้อำนวยการสำนักขึ้นไป ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันงานที่ได้รับมอบหมายอย่างยิ่ง การแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนั้น ๆ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่องาน และยังส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงานดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ การโยกย้ายแต่งตั้งพนักงานต้องคำนึงถึงเหตุการณ์และช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย การดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายในขณะที่อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการสำคัญ ย่อมส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินงาน เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จลุล่วงของงานต่อไปในอนาคตด้วย 

งานโทรคมฯ-วิทยุดิจิทัล กสทช.หวั่นสะดุด หลัง “ไตรรัตน์” เซ็นโยกย้ายล็อตใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 28 พ.ย.2566 การประชุมบอร์ดกสทช.ล่มอีกเป็นครั้งที่ 5 เนื่องจากบอร์ดทั้ง 4 คน  ได้แก่ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,นางสาวพิรงรอง รามสูต ,นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ติดภารกิจร่วมการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ The 16th International Telecommunications Society Asia-Pacific Regional Conference (ITS Asia-Pacific 2023)