ดร.สวนิตย์ย้ำควรเปิดให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมให้มุมมองและหนุนSmart city
ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ ตัวแทนส.อ.ท ฉายภาพแนวทางผลักดันไทยสู่ Smart City ในส่วนภาคเอกชนมุ่งขับเคลื่อน Future Mobility เน้นตอบโจทย์ทั้งบริการและผลิตภัณฑ์ ย้ำเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ใช้งานในอนาคตมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเสนอแนะ
ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวในงาน PostToday Smart City ถึงการผลักดันไทยสู่ Smart City ว่า ส.อ.ท. ที่เป็นกลุ่มตัวแทนภาคเอกชนที่มีถึง 10,000 รายนั้น มองภาพรวมประโยชน์ของ Smart City ใน 3 มิติ คือ ESG (Environment Social Corporate Governance) ทางด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการลด PM 2.5 และ Climate Change อีกทั้งผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ตลอดจนเป็นการบริหารอย่างโปร่งใส
"ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ เองเราก็พร้อมเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จะตอบโจทย์ Smart City ในแง่มุมของทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์มูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศด้วย"
สำหรับบทบาทของส.อ.ท. ซึ่งเป็นภาคเอกชนก็พร้อมส่งเสริมนโยบาย Smart City ในฐานะการนำเสนอทั้งบริการและผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ในหลายแง่มุมไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องอัจฉริยะอย่างเดียว แต่ต้องตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้วย เช่น สินค้าสีเขียว สินค้าที่ดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม สินค้าที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อน Future Mobility เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็น ecosystem ทั้งหมด เพราะส.อ.ท.คงไม่สามารถทำเรื่องดังกล่าวสำเร็จได้เพียงลำพัง
สำหรับประเด็นในแง่การประเมินผลนั้น ดร.สวนิตย์ให้มุมมองว่า Smart City Index มีหลายด้านและมีขอบข่ายกว้างมาก แต่มองว่าการมีความพร้อมเรื่องบ้าน เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องผลักดัน เพราะมองว่าควรต้องเริ่มจากมีบ้านเป็นหลักแหล่งก่อน ที่จะใส่โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ด้าน Smart City เข้าไป
นอกจากนี้คือเครื่องขนส่งมวลชนสาธารณะหรือ Public Transportation ที่อยากให้เกิดการบูรณาการมากว่านี้ เช่น บัตรเดียวใช้โดยสารได้ทุกระบบ ก็เป็นอีกจุดที่ควรทำให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับด้านการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาอาจประเมินศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ต่อเกินไป แต่มองว่าน่าจะผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่ได้แสดงความเห็นและความคิดสร่างสรรค์ เพราะจะเป็นผู้ใช้จริงในอนาคต จึงอยากให้เป็นการเสนอแนะและการออกแบบโดยให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น
"ขออนุญาตฝากในเรื่องการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำด้าน Smart City ได้ดีระดับหนึ่งแล้วก็ตาม"
รวมถึงมองว่า Mindset ของคนที่เกี่ยวของ Smart City เป็นจุดสำคัญ ที่ต้องพึ่งพาเรื่องการสื่อสารแบบสองทางที่เข้มข้น แต่ภาครัฐก็ได้ผลักดันไปมากแล้วในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมองว่ายังมีจุดที่สามารถเติมเต็มด้าน Smart City ได้มากกว่านี้ คือ ต้องเร่งสร้างบุคลากรตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นการศึกษาในโรงเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ทั้งนี้มองว่าถ้าไม่ใส่หลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในโรงเรียนด้วย เพราะทุกวันนี้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ต้องไปหาความรู้และไปสร้างโปรแกรมต่าง ๆ นอกโรงเรียน ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้นหากเราใส่ความรู้เรื่อง Smart City ในหลักสูตรการศึกษาก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เกิดจากคนไม่ใช่เป็นแค่โรงสร้างพื้นฐาน จึงหวังว่าในปี 2050 น่าจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้
นอกจากนี้ดร.สวนิตย์ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากกรุงเทพมหานครแล้วยังมีจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเมืองรองน่าจะมีศักยภาพผลักดันให้เป็น Smart City ได้ด้วย โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิดระบาดแล้วเริ่มมีผู้คนกลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งเป็นเมืองรองต่าง ๆ น่าจะได้มีส่วนในการให้ความเห็นและช่วยออกแบบจังหวัดหรือบ้านเกิดของตัวเองให้เป็น Smart City ได้ เช่น แม่ฮ่องสอน
ดร.สวนิตย์ยังเล่าถึงบทบาทของส.อ.ท.ในส่งเสริมคุณภาพชีวิตและพัฒนาเมืองว่า จะเน้นในแง่นำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ทั้งในแง่ ESG และ BCG เพื่อตอบโจทย์ประเทศในแง่ความยั่งยืน ทั้งนี้มองว่าในอนาคตน่าจะได้เห็น Thai Green Directory (TGD) เพื่อที่จะไปตอบโจทย์ด้าน Smart City เพิ่มขึ้นด้วย
"อยากให้รัฐบาลผลักดันและรับฟังประเด็นต่าง ๆ ไปด้วย เพื่อจะได้ทำงานร่วมกัน เดินไปด้วยกัน เพื่อให้ไปได้ไกลมากขึ้น"
พร้อมทิ้งท้ายถึงการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็น Smart City โดยรวมถือว่าทำได้ดี แต่ยังมีจุดที่ต้องหักคะแนนอยู่คือเรื่องชุมชนแออัด เรื่องพื้นที่สีเขียว และการเชื่อมโยงระบบ Mobility