posttoday

เฟซบุ๊ก เผย ปัญหาเพจปลอมซับซ้อน มิจฉาชีพมีเงินทุน-ทำงานเป็นเครือข่าย

26 ตุลาคม 2566

เฟซบุ๊ก รับปัญหาเพจปลอมซื้อโฆษณาหลอกประชาชนเป็นเรื่องซับซ้อน มีเงินสนับสนุนเป็นระบบ ดำเนินการจากหลายแหล่ง ด้าน ดีอี ย้ำโซเชียลมีเดียเข้มมาตรการป้องมิจฉาชีพ-ทำงานร่วมกันใกล้ชิด

น.ส.เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก เมตา  ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสสอง ปี 2566 เมตา ได้ลบบัญชีเฟซบุ๊กปลอม ออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกด้วยเทคโนโลยีเอไอ ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ โดยก่อนหน้านั้นในเดือน ธ.ค.2565 ได้ลบเนื้อหาที่เป็นภัย หลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น ซึ่ง 95.3% ตรวจจับโดยเอไอและยังดำเนินการกับปัญหาการปลอมแปลงตัวตน เป็นผู้อื่น ทั้งในเชิงธุรกิจและโฆษณาต่าง ๆ

เรื่องเพจปลอมที่มีการซื้อโฆษณาเพื่อใช้หลอกลวงนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมิจฉาชีพก็พยายามหาช่องทางต่างเพื่อให้รอดจากการตรวจจับจากเอไอ ซึ่งก็มีการให้บุคคลในการตรวจคัดกรองด้วย ซึ่งหากผู้ใช้งานพบเพจหลอกลวงก็สามารถรายงานเข้ามายังเฟซบุ๊กเพื่อตรวจสอบและระงับบัญชี โดยเร็ว

ต้องยอมรับว่า ปัญหาภัยลวงบนโลกออนไลน์ ( สแกม) เป็นประเด็น ที่มีความท้ายท้าย และมีความเชื่อมโยงกับ เครือข่ายที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบและทำเป็นรูปแบบกระบวนการ  และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น โดยสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่าง ๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย จึงต้องมีการพัฒนา และปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ด้าน น.ส.อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ เฟซบุ๊ก ประเทศไทยจาก เมตา กล่าวว่า ได้บูรณาการ ความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม หากพบว่าบัญชีใด มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบ

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลและ ดีอี ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาหลอกลวงออนไลน์ โดยขอให้โซเชียลมีเดียเข้มข้นในการระวังเรื่องขายโฆษณาให้คนร้าย โดยต้องทำงานร่วมกับดีอี อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาโจรออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับกระทรวงดีอี มีนโยบายเชิงรุก เน้นที่การป้องกัน ตัดตอน และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สรุปได้ดังนี้

1. การป้องกัน โดยเฉพาะการให้ความรู้และการปิดกั้นเว็บหรือ เพจหลอกลวง ซึ่ง ดีอี ได้เปลี่ยนวิธีการใช้คน ดีอี มากขึ้น ร่วมมือกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มมากขึ้น จากเดิม ปี 2566 ปิดกั้นเว็บ/เพจผิดกฎหมาย เฉลี่ยสถิติ 53 เพจ/รายการต่อวัน (ประมาณ 1500 รายการต่อเดือน) เป็นเฉลี่ย 350 เพจ/รายการต่อวัน (ประมาณ 10,500 รายการต่อเดือน)

2. การเร่งตัดตอนวงจรอาชญากรรม โดยเฉพาะซิมม้า (โจรใช้ติดต่อสื่อสาร) บัญชีม้า (โจรใช้รับ-โอนเงิน) ซึ่งตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา ผู้ขายมีโทษหนัก จำคุก 3 ปี ผู้เป็นนายหน้าจัดหามีโทษจำคุก 2 – 5 ปี และมีการเร่งแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปิดบัญชี จับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง  

3. การบูรณาการทำงาน ใช้เทคโนโลยีเชิงรุก โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) เพื่อบูรณาการทำงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงาน กสทช. เป็นต้น เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บุคลากร และแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์