posttoday

ส่งออกเดือนก.ย.บวก 2.1% ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

24 ตุลาคม 2566

พาณิชย์ เผยส่งออกไทยส่งสัญญาณฟื้น หลังตัวเลขเดือนก.ย.เป็นบวก 2.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ประเมิน 3 เดือนที่เหลือยังไปต่อ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศไม่รุกลามขยายวงกว้าง คาดทั้งปีบวก 1%

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 และ 9 เดือนแรกของปี 2566 ว่าการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2566 มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 888,666 ล้านบาท ขยายตัว 2.1% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 1.0% การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่2  โดยได้รับแรงหนุนจากการการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าว ที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย 

ส่งออกเดือนก.ย.บวก 2.1% ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตโลกเดือนนี้ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว การฟื้นตัวของตลาดหลักยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง จากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการคงอัตราดอกเบี้ยสูงยาวนาน ชะลออุปสงค์ทั่วโลก

 

ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 3.8% และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 1.2% มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกันยายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.1% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,383.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 8.3% ดุลการค้า เกินดุล 2,092.7 ล้านเหรียญสหรัฐ 

 

ขณะที่ ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 213,069.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 218,902.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 6.0% ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,832.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2566 การส่งออก มีมูลค่า 888,666 ล้านบาท หดตัว 0.1% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 825,310 ล้านบาท หดตัว 10.2% ดุลการค้า เกินดุล 63,355 ล้านบาท ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 7,268,400 ล้านบาท หดตัว 3.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 7,558,144 ล้านบาท หดตัว 5.9% ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 289,744 ล้านบาท

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 12.0% พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว (หลังจากขยายตัวเดือนก่อนหน้า)  0.3% แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซียและซาอุดีอาระเบีย

 

ขณะที่ การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการกลับมาขยายตัวในรอบหลายเดือนของตลาดอาเซียน และเอเชียใต้ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังหลายตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยกดดันของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ อาทิ ตลาดหลัก หดตัว 4.2% โดยกลับมาหดตัวในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น กลับมาหดตัว10.0% และ5.0% ตามลำดับ และหดตัวต่อเนื่องในตลาด CLMV และสหภาพยุโรป (27) 18.1% และ 9.3% ตามลำดับ ในขณะที่ขยายตัวในตลาดจีนและอาเซียน 14.4% และ 4.1% 

 

ตลาดรอง ขยายตัว 10.5% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 7.8% แอฟริกา 23.0% ลาตินอเมริกา 4.6% และรัสเซียและกลุ่ม CIS  33.9% ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และสหราชอาณาจักร หดตัว 11.8%  5.9% และ 15.0% ตามลำดับ 

 

ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 423.6% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 749.8% สหรัฐสหรัฐฯ หดตัว 10.0% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน และจีน ขยายตัว 14.4%ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน 

 

สำหรับ แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปประเมินว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่ต่างออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอุปสรรค ด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้าที่ต้องเผชิญกับโควิด-19 ขณะที่กระแสความมั่นคงทางอาหาร และแรงส่งจากภาคบริการและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปลายปีจะช่วยหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่ไทยมีศักยภาพ

 
“ตัวเลขก.ย.เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่า น่าพอใจ ผลจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ออเดอร์เริ่มเข้ามา ที่ผ่านมาติดลบมาตลอด ส่วน 3 เดือนที่เหลือน่าจะติบลบน้อยกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ อัตราแลกเปลี่ยนถ้ายังทรงตัวอยู่แบบนี้น่าจะช่วยเราด้วย โดยคาดว่าทั้งปี จะบวก 1%  ซึ่งเป็น  working target  สุดท้ายจะลบหรือบวกไม่เสียใจ เราจะทำให้ติดงบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์ แต่มูลค่าการค้าเรากับอิสราเอลน้อย อาจะเป็นปัจจัยด้านจิตวิทยา เรื่องผู้บริโภค และการคลาด หากไม่ขยายวงกว้างกระทบการขนส่ง ก็ไม่น่าจะมีผลมากนัก”นายกีรติ กล่าว