posttoday

กสทช.ปลดล็อคประมูลดาวเทียม สู่การจัดสรรใบอนุญาต คาดเคาะไตรมาสแรกปี 67

17 ตุลาคม 2566

กสทช.เดินหน้าแก้เงื่อนไขจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียม ปลดล็อคการประมูล แบ่งจัดสรรทีละวงโคจร เหตุเทคโนโลยีเปลี่ยน ดาวเทียมสื่อสารไม่ใช่ดาวรุ่ง ผู้ประกอบการต้องแข่งกับต่างชาติ คาดประกาศแผนใหม่สิ้นปีนี้ ก่อนเคาะใบอนุญาตภายในไตรมาสแรก ปี 67

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวว่า กสทช.ได้เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อปรับปรุงแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ฉบับที่ 1 ซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2563 โดยมีสาระสำคัญในแผนที่กำหนดวิธีการจัดสรรใบอนุญาตต้องมาจากการประมูลเท่านั้น ทำให้มีการประมูลวงโคจรดาวเทียมขึ้นเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ทว่า วงโคจรที่เหลือ อีก 2 ชุด ยังไม่มีผู้ประกอบการที่ประสงค์จะใช้งาน ได้แก่ ชุดที่ 1 ตำแหน่ง 50.5 E และ 51 E  และ ชุดที่ 5 ที่ 142 E เนื่องจากเป็นวงโคจรที่มีพื้นที่ให้บริการอยู่ต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการต่างชาติหลายราย ในขณะที่ดาวเทียมที่เหลือคือดาวเทียมสื่อสารไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน จึงไม่น่าสนใจเท่ากับดาวเทียมบรอดแบนด์

ดังนั้น บอร์ดกสทช.จึงต้องจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขแผนดังกล่าวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ควรเปิดให้มีวิธีอื่นในการจัดสรรนอกจากการประมูลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การจัดสรรอาจจะเป็นรูปแบบให้ใบอนุญาตลักษณะเป็นข่ายดาวเทียมแทนการจัดสรรแบบเป็นแพคเกจ เหมือนเดิม เมื่อถึงเวลาในการจัดสรรใบอนุญาต กสทช.จะออกประกาศในแต่ละข่ายดาวเทียมอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าการแก้แผนดังกล่าวจะทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมการจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียมในครั้งหน้า

"การปรับปรุงแผนบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการนำไปสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตสิทธิวงโคจรที่เหลือ โดยที่ กสทช.ต้องสร้างสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และการให้ได้มาซึ่งผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ประสงค์จะใช้งานโดยที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์ รวมทั้งแผนฯ ดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือข้อบังคับของ ITU ที่เป็นไปตามหลักสากล และสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้ ได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อจะได้นำมาใช้ในการปรับปรุงแผนฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป"

ด้านนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 10 พ.ย.2566 เพื่อรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย คาดว่าจะสามารถประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้ภายในปีนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มจัดสรรใบอนุญาตชุดที่เหลือได้ภายในไตรมาสแรกปี 2567 ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็นมีความเห็นตรงกันว่าการแก้ไขแผนดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมดาวเทียม

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังขอให้กสทช.ประกาศการดำเนินการให้ใบอนุญาตล่วงหน้า 5 ปี จากเดิม 3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวทั้งเรื่องการหาตลาด การสร้างดาวเทียม รวมถึงเงินลงทุนต่างๆได้ทันเวลา อันจะกระตุ้นให้เกิดรายใหม่เพิ่มเติมได้

สำหรับแนวทางในการจัดสรรใบอนุญาต ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่ 1.บิวตี้ คอนเทสต์ ด้วยการตั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจน 2.เรฟวีนิวซ แชร์ริ่ง เป็นการเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับภาครัฐ คล้ายกับการประมูลแข่งขันราคา และ 3.ไดเร็ก อวอร์ด การพิจารณาจัดสรรให้โดยตรง  

นายสมภพ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ดาวเทียมที่เหลือเป็นตลาดนอกประเทศ การหวังรายได้สูงเกินไปเป็นเรื่องยาก ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องไปแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ต้องทำการตลาดนอกประเทศ โดยวงโคจร 50.5 อยู่ในประเทศอาหรับ แอฟริกา เนเธอร์แลนด์ และ ตุรกี เป็นต้น ขณะที่วงโคจร 142 E ให้บริการประเทศญี่ปุ่น จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย ข่ายดาวเทียมที่ได้ไปก็มีความจุจำกัด ให้บริการได้ไม่มาก ที่สำคัญคือธุรกิจดาวเทียมสื่อสารไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนดาวเทียมบรอดแบนด์