posttoday

ดีอีเคาะระบบเตือนภัย Cell Broadcast ต้องเสร็จภายใน 1 ปี

05 ตุลาคม 2566

ดีอีหารือกสทช.เร่งทำระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast คาดเสนอบอร์ดกสทช.เร็วที่สุด วางกรอบทำระบบเสร็จภายใน 6-12 เดือน ขณะที่ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติรอนายกรัฐมนตรีสั่งการหาหน่วยงานเจ้าภาพวันนี้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ (5 ต.ค. 2566) ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อดำเนินการระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง โดยเมื่อช่วงเช้า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ทดสอบการแจ้งเตือนผ่านระบบ Location Based service (LBS) ผ่าน SMS ในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทดสอบระบบเดียวกันในช่วงเวลาต่อมา 

ดีอีเคาะระบบเตือนภัย Cell Broadcast ต้องเสร็จภายใน 1 ปี

ทว่าระบบดังกล่าวต้องใช้เวลาประมวลผลนาน ดังนั้น ในระยะต่อไปต้องทำระบบ Cell Broadcast เพื่อให้แจ้งเตือนผ่าน SMS ได้รวดเร็ว และเจาะจงพื้นที่ได้ โดยกสทช.จะประสานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) เพื่ออัพเกรดซอฟต์แวร์ ซึ่งระบบนี้ต้องใช้เวลาคาดว่าจะเสร็จภายใน 6-12 เดือน

นายประเสริฐ กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการตั้งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ ซึ่งตนเองจะนำเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (5 ต.ค.2566) เพื่อสั่งการหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลต่อไป
ต่อข้อถามที่ว่า เหตุใดที่ผ่านมาการทำระบบ Cell Broadcast ของประเทศไทยไม่เกิด และล่าช้า ติดอยู่ที่งบประมาณหรือไม่นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนเองไม่อยากพูดถึงอดีตที่ผ่านมา เพราะ ณ วันนี้ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมืออย่างดีทั้งกสทช.และโอเปอเรเตอร์ 

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช.และรักษาการเลขาธิการกสทช. กล่าวว่า กสทช.จะนำเรื่องการพัฒนาระบบ Cell Broadcast เสนอต่อประธานกสทช.เพื่อให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.พิจารณาเร็วที่สุด

ส่วนศูนย์เตือนภัยแห่งชาติต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการหาหน่วยงานเจ้าภาพ เพราะจำเป็นต้องมีการตรวจคำก่อนจะส่งออกไปยังประชาชน

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยี Cell Broadcast จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมในช่วงระหว่างทดลองทดสอบนี้ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เราสามารถใช้ Location Base Service ด้วยระบบ SMS ที่จะสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่เฉพาะเจาะจง

โดยเมื่อทีมวิศวกรได้รับแจ้งจาก command center ของภาครัฐ ก็จะทำการระบุพื้นที่จากความครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆ และส่งข้อความไปยังหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้าในรูปแบบของ SMS Pop UP Notification แบบ Near Real Time Triggering ให้รับรู้เหตุได้ทันที และเมื่อกดอ่านก็จะเชื่อมโยงไปที่กล่องข้อความ SMS เพื่อให้เห็นรายละเอียดที่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมอาทิ เบอร์ติดต่อฉุกเฉินหรือวิธีป้องกันภัยในเบื้องต้นกับประชาชน