posttoday

CBAM เริ่ม 1 ตุลาคม 2566...ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

17 กันยายน 2566

เตรียมพร้อมรับมือ “CBAM” หรือ ภาษีก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU) ระยะแรก หรือ ระยะเปลี่ยนผ่าน จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง สำหรับสินค้า 6 กลุ่มความเสี่ยงสูง

CBAM เริ่ม 1 ตุลาคม 2566...ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า กลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นมาตรการของสหภาพยุโรป ในระยะแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 จะเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นเพียงช่วงทดลองเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ปรับตัว รวมถึง EU ด้วยสำหรับใช้ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการต่อไป โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือผู้นำเข้าสินค้าที่ต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม

 

ในระยะแรก มีจำนวน 6 กลุ่ม ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ (ไฮโดรเจน) โดยที่ยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน หรือ หรือ CBAM Certificates

 

ดังนั้น ภายใต้มาตรการ CBAM ผู้ประกอบการและผู้นำเข้าสินค้าจากนอกอาณาเขต EU จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของการนำเข้าสินค้า ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

1. ก่อนการนำเข้าสินค้าข้ามพรมแดน EU ผู้ประกอบการโรงงานที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศนอกอาณาเขต EU จะต้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการ EU เพื่อขอลงทะเบียนในระบบ CBAM (CBAM Registry) จากนั้นคณะกรรมาธิการจะนำข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการและโรงงานไปใส่ในระบบลงทะเบียนและแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ โดยบัญชีของผู้ประกอบการจะมีอายุการใช้งาน 5 ปี นับจากวันที่ได้รับแจ้ง โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบการลงทะเบียน ได้แก่

1.1 ชื่อ ที่อยู่และช่องทางการติดต่อ ของผู้ประกอบการ

1.2 ที่ตั้งของโรงงาน (ในรูปแบบละติจูดและลองจิจูด เลขทศนิยม 6 หลัก)

1.3 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในโรงงาน

 

2. เมื่อได้รับบัญชีในระบบลงทะเบียน CBAM แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้าสินค้า หรือแต่งตั้งบุคคลที่จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าในเขตศุลกากรของ EU ต่อผู้มีอำนาจตรวจสอบในประเทศที่ประสงค์จะนำเข้าสินค้านั้น ๆ ผ่านทางระบบลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ในกรณีที่ไม่สามารถหาคนมาทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าได้ ผู้ประกอบการอาจแต่งตั้งตัวแทนออกของที่ได้ลงทะเบียนกับกรมศุลกากรเพื่อทำหน้าที่แทนผู้นำเข้าสินค้า หรือที่เรียกว่า Indirect Customs Representative

 

3. เมื่อข้อมูลข้างต้นได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการ EU และผู้มีอำนาจตรวจสอบของประเทศที่นำเข้าสินค้าและประเทศอื่น ๆ แล้ว ผู้นำเข้าสินค้าจะได้รับสถานะเป็นผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาต หรือที่เรียกว่า Authorized CBAM Declarant (สำหรับในระยะเปลี่ยนผ่าน เรียกว่า Reporting Declarant) และได้รับเลขที่บัญชี CBAM ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงระบบลงทะเบียนได้

 

CBAM เริ่ม 1 ตุลาคม 2566...ผู้ส่งออกไทยต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ?

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะที่มีการส่งออกใน 6 กลุ่มสินค้าเป้าหมายไปยังสหภาพยุโรป ต้องทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อม และดำเนินการ ดังนี้


• ผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าให้จากประเทศอื่น ๆ นอกอาณาเขตสหภาพยุโรป (Third Country Operator) ต้องประสานกับผู้นำเข้าสินค้าซึ่งขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเป็น CBAM Declarant ในระบบ CBAM Registry เพื่อรายงานข้อมูลต่าง ๆ ตามที่มาตรการ CBAM กำหนด


• ผู้นำเข้าสินค้าที่ได้รับอนุญาตจะต้องส่งมอบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่นำเข้าระหว่างไตรมาสนั้น ๆ หรือ CBAM report แก่ผู้มีอำนาจตรวจสอบผ่านระบบลงทะเบียน CBAM ภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนหลังสิ้นสุดไตรมาสที่มีการนำเข้าสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมจัดทำข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า หรือที่เรียกว่า Embedded Emissions (โดยในระยะเปลี่ยนผ่านยังไม่จำเป็นต้องมีผู้ทวนสอบมาทำการทวนสอบ Embedded Emissions) และปริมาณของสินค้านำเข้าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม โดยระบุแยกตามโรงงานที่ผลิตสินค้านั้น ๆ ในประเทศต้นกำเนิดของสินค้านำเข้า เพื่อนำส่งให้ผู้นำเข้าสินค้านำไปส่งมอบรายงานข้อมูลดังกล่าว หรือเรียกว่า CBAM Report แก่ผู้มีอำนาจตรวจสอบผ่านระบบ CBAM Registry ต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและผู้นำเข้าสินค้าต้องมีการสื่อสารและประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดแนวทางและแผนการทำงานร่วมกันในการรายงานข้อมูลเพื่อการติดตามตรวจสอบในระยะเปลี่ยนผ่านของมาตรการดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง หากคณะกรรมาธิการ EU ตรวจพบว่า CBAM Report ในแต่ละไตรมาสไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง คณะกรรมาธิการอาจแจ้งผ่านทางผู้มีอำนาจตรวจสอบ เพื่อให้ผู้นำเข้าสินค้าที่ได้รับอนุญาตดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง หากผู้นำเข้าสินค้าไม่ดำเนินการแก้ไขหรือยื่นหลักฐาน CBAM Report ตามหลักการที่ระบุไว้ ผู้มีอำนาจตรวจสอบมีอำนาจเรียกเก็บค่าปรับกับผู้นำเข้าสินค้าได้ตามความเหมาะสม

 

จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า สินค้าส่งออกของไทยจากฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องมีการคำนวณ Embedded Emission (มีหน่วยเป็น tonCO2eq/ton ผลิตภัณฑ์) และรายงานข้อมูลตามที่กำหนดในภาคผนวกของมาตรการ CBAM ตามพิกัด CN Code (ใน Annex I) มีประมาณ 30 รายการจากสินค้าทั้งหมด 42 รายการ หรือประมาณ 145 รายการ ตามพิกัด HS Code ที่พิกัด 8 หลัก ใน 6 กลุ่มสินค้า โดย Embedded Emission สำหรับ Simple Goods จะมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า ทั้งทางตรงกับทางอ้อมจากกระบวนการผลิตของสินค้า หากเป็น Complex Goods จะมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า ทั้งทางตรงกับทางอ้อมจากกระบวนการผลิตของสินค้า และสารตั้งต้นที่เกี่ยวข้อง (Relevant precursors) ด้วย โดยพิจารณาก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และ เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ทั้งนี้ แต่ละผลิตภัณฑ์จะมีชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ต้องพิจารณาไม่เหมือนกัน เช่น

  • กลุ่มซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า เหล็กละเหล็กกล้า และไฮโดรเจน คิดเฉพาะก๊าซ CO2
  • กลุ่มปุ๋ย คิดเฉพาะก๊าซ CO2 และ N2O
  • กลุ่มอลูมิเนียม คิดเฉพาะก๊าซ CO2 และ PFCs

 

สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ โดยสามารถเริ่มจากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสินค้าของตน การวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า สร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถปรับตัวให้ทันกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

สหภาพยุโรป (EU) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 5-2.0 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมาตรการ CBAM เป็น 1 ใน มาตรการสำคัญของ European Green Deal ที่สหภาพยุโรปจะนำมาปรับใช้

 

  • CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม

 

  • การปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าเข้าเกณฑ์การพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรก อาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยไป EU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท และในอนาคตอาจมีการปรับเพิ่มสินค้าที่จะถูกนำมาพิจารณาตามเกณฑ์ CBAM อีก ได้แก่ refinery products/ organic chemicals/ hydrogen/ ammonia และ plastic polymers

 

  • มาตรการ CBAM เสมือนเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้

 

 

ที่มาข้อมูล :

TGO | องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)


1. Ref. Ares(2023)4079551 - 13/06/202 COMMISSION IMPLEMENTING REGULATION (EU)
2. Ref. Ares(2023)4079551 - 13/06/2023 ANNEXES, Commission Implementing Regulation (EU)

https://www.set.or.th/th/about/setsource/insights/article/55-cbam