posttoday

“ประเสริฐ” ชูบล็อกเชน อนาคตของคนไทย นัดไรเดอร์ถกปมรายได้

12 กันยายน 2566

รมว.ดีอีเอส มั่นใจ บล็อกเชน จะกลายเป็นเทคโนโลยีอนาคตของคนไทย เงินดิจิทัล 10,000 บาทถึงมือประชาชนครบทุกบาท แจงงานดิจิทัลประเทศ สร้างคลาวด์-บิ๊ก ดาต้า มุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล ปั้นซุปเปอร์ แอป เชื่อมโยงข้อมูล เปิดโอเพ่น ดาต้า เตรียมนัดไรเดอร์แก้ปัญหารายได้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวชี้แจงในสภาฯ ถึงการทำงานของกระทรวงดีอีเอส ว่า กระทรวงจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล มีความจำเป็นต้องลงทุนสร้างบล็อกเชน นโยบายนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พี่น้องประชาชนได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยบล็อกเชน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีความโปร่งใส เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะถึงมือประชาชนทุกบาท

รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีช่วยเพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และบล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีอนาคตที่คนไทยจะคุ้นเคยเหมือนการใช้ไลน์

สำหรับโครงการคลาวด์ภาครัฐ เรื่องโก คลาวด์ เฟิร์ส กระทรวงได้วางกรอบในการขยายคลาวด์ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุน แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างจะมีการใช้ระบบคลาวด์มาใช้เพื่อสร้างความโปร่งใส

นอกจากนี้กระทรวงยังมี Thaid หรือ ดิจิทัลไอดี แทนบัตรประชาชน ที่มีประชาชนใช้งานแล้วกว่า 10 ล้านราย และ NDID เพื่อยืนยันตัวตน สามารถทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย โดยกระทรวงอยู่ระหว่างการขยายยูสเคสเพื่อให้การใช้งานมีความน่าเชื่อถือ

ขณะเดียวกันกระทรวงมีการทำโครงการสมาร์ท ซิตี้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการใช้งานบิ๊ก ดาต้า เชื่อมโยงข้อมูลทำเป็น ซิตี้ ดาต้า แพลตฟอร์ม ด้านสาธารณสุขก็มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการทำระบบเฮลท์ลิงค์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว ในการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล  เช็คประวัติข้ามโรงพยาบาลได้ ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็มีการทำทราเวล ลิงค์ พัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังทำรัฐบาลดิจิทัล จะทำแผนแม่บทเพื่อให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล จะมีการทำซุปเปอร์ แอป รวมบริการภาครัฐ และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเก็บข้อมูล ประชาชนจะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐได้ภายในแอปเดียว เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนและประชาชนไม่สับสน

ในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงก็มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมาตรการเชิงรุกของกระทรวงที่สำคัญคือเรื่อง โอเพ่น ดาต้า ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลกก็ให้ความสำคัญ โดยกระทรวงมีสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ในการทำแผนแม่บทเรื่องนี้ เพื่อให้ภาคประชาชน เอกชน นำข้อมูลไปใช้ในเชิงธุรกิจ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

กระทรวงมีหน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ในการขับเคลื่อนส่งเสริมสตาร์ทอัป มีสถาบันไอโอที มีการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัลกับภาคการเกษตร นอกจากนี้กระทรวงยังมีการอบรมภาคราชการให้เข้าถึงความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาไรเดอร์ถูกแพลตฟอร์มต่างชาติเอาเปรียบให้ค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เมื่อ 2 เดือนก่อน ตนเองมีโอกาสได้พบกับกลุ่มไรเดอร์และรับทราบปัญหาต่างๆแล้ว หลังจากแถลงนโยบายต่อสภาฯเสร็จสิ้น จะนัดกลุ่มไรเดอร์มาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ด้วยเทคโนโลยีที่กระทรวงพัฒนาขึ้น