posttoday

ย้อนปมขัดแย้งขุนคลังแค้นเก่าต้องชำระ'พิชัย' VS 'กฤษฎา'

09 พฤษภาคม 2567

บรรยากาศการทำงานของฝ่ายการเมือง-ข้าราชการ ภายในกระทรวงการคลัง คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลัง 'กฤษฎา' รมช.คลังยื่นใบลาออก ย้อนรอยปมขัดแย้ง 'พิชัย ชุณหวชิร' กรณีหุ้นบางจาก แค้นเก่าต้องชำระ บาดแผลในใจที่ยากสมาน

เกิดแรงกระเพื่อมอีกระลอกใหญ่ หลังปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 2 ต่อกรณี“กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.คลัง จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” จากพรรคเพื่อไทย ทิ้งเก้าอี้ รมว.การต่างประเทศ

แหล่งข่าววงในระบุชัดว่า สาเหตุการยื่นใบลาออกรมช.คลังมาจาก "กฤษฎา" ไม่พอใจการแบ่งงานของ “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลัง ซึ่งแทบไม่เหลืออะไรให้ทำ

จากเดิมที่"กฤษฎา" ได้รับความไว้วางใจแบ่งงานสำคัญให้ทำ 3 กรม ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง กรมสรรพสามิต สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง และงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม องค์การสุรา การยาสูบแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

การปรับครม.เศรษฐา2 มีการเพิ่ม "เผ่าภูมิ โรจนสกุล" รมช.คลัง จากเพื่อไทยเข้ามาอีกคน รวมเป็น 1 รมว.พ่วง3 รมช.ทำให้ “กฤษฎา” ถูกลดบทบาทเหลืองานดูแลส่วนราชการเพียงกรมเดียว คือ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ส่วนรัฐวิสาหกิจ เหลือการยาสูบแห่งประเทศไทย สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) เมื่อไม่เหลืองานสำคัญให้รับผิดชอบ  

แม้เบื้องลึกเบื้องหลังการแบ่งงานใหม่ จะเป็นเรื่องสืบเนื่องการเจรจาต่อรองโควตาระหว่าง2พรรค เพื่อไทยและรวมไทยสร้างชาติ ที่พรรคแกนนำต้องการรวบอำนาจกระทรวงคลังไว้แต่เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอม ปฏิบัติการตอบโต้จึงออกมาในรูปแบบริบอำนาจ มองเป็นอื่นไม่ได้ว่า เป็นศึกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจมองข้ามได้ ในเรื่องของความขัดแย้งตัวบุคคลระหว่างรัฐมนตรีใหม่ของค่ายแกนนำ กับรัฐมนตรีช่วยคลังที่รู้งานกระทรวงการคลังทุกอณู 

จะว่าไปแล้ว ปฐมบทความขัดแย้งระหว่าง “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ รมว.คลัง เคยมีแค้นเก่าที่ต้องชำระกับ “กฤษฎา” ว่าด้วยปม"หุ้นบางจาก" ในช่วงที่ “กฤษฎา” นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลัง ส่วน“พิชัย” นั่งประธานบอร์ด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อ“ลุง”อดีตเบอร์หนึ่งไฟเขียวให้ตั้งกรรมการสอบว่า มีปมพิรุธหรือไม่ โดยระหว่างนั้น “พิชัย-กฤษฎา” มีการพูดคุยเพื่อเคลียร์ปัญหานี้ แต่ฉากจบคือเดินกันคนละทาง

“กฤษฎา” ยืนยันต้องตั้งกรรมการสอบ ด้าน “พิชัย” ต่อสายไปยังไป “ลุง”อดีตเบอร์หนึ่ง เพื่อเคลียร์ใจ เคลียร์ปัญหาด้วยตัวเอง บทสรุปจึงจบที่ ลุงหายคาใจ จน“พิชัย”รอดพ้นข้อสงสัยแต่แผลในใจระหว่าง“พิชัย” กับ “กฤษฎา”ที่เกิดขึ้นแล้ว ยากจะสมาน 

เมื่อเส้นทางการเมืองมีอันต้องมาบรรจบพบกัน จากการปรับครม.เศรษฐา2 “กฤษฎา”ก็ต้องลุ้นชะตากรรมของตัวเอง ในช่วงการวางตำแหน่ง วางคน ในครม.เศรษฐา 2 มีการยื่นข้อเสนอให้ “กฤษฎา” ย้ายออกจากกระทรวงการคลัง เนื่องจาก “พิชัย” ไม่สะดวกใจร่วมงานด้วย

โดยมีข้อเสนอให้ “กฤษฎา” โยกไปนั่ง รมช.พาณิชย์ หรือเลือกเก้าอี้ รมช. กระทรวงอื่นได้ โดยเน้นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ แต่เจ้าตัวไม่ยอม ยืนยันจะนั่งเก้าอี้ รมช.คลัง และหากต้องย้ายกระทรวง จะขอไม่รับตำแหน่ง

ต่างจากเป้าหมายของ “พิชัย-เพื่อไทย” ที่ต้องการคุมกระทรวงการคลังเพียงพรรคเดียว ไม่แบ่งเค้กให้พรรคการเมือง แต่เสียงกร้าวของ “กฤษฎา” ที่มาพร้อมแบ๊คอัพชั้นดี จึงได้นั่งเก้าอี้ตัวเดิม

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณเตือนมาก่อนแล้วว่า การยอมให้ “กฤษฎา” นั่งรมช.คลังต่อ เป็นเพียงการประณีประนอมเฉพาะหน้า เพราะ “พิชัย-เพื่อไทย” มีดาบอำนาจ ในการแบ่งงาน และแล้วก็เป็นจริง เมื่อ“กฤษฎา” โดนริบหน่วยงานที่เคยดูแลเกือบหมดหน้าตัก จนมีเสียงบ่นจาก “บิ๊กเนม”รวมไทยสร้างชาติว่า “แบ่งงานได้น่าเกลียดมาก” 

หลังจาก “กฤษฎา”ทิ้งลาออก ก็กลายเป็นเกมวัดใจ “บิ๊กเพื่อไทย” เพราะหากต้องปรับ ครม.ติดๆ กัน ย่อมส่งผลสะเทือนความเชื่อมั่น และภาพลักษณ์รัฐบาล เพราะกรณี “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ที่ลาออกจาก รมว.ต่างประเทศ ก็ยังแผลสดอยู่ ทำให้นายกฯ “เศรษฐา” ต้องอาสาเคลียร์ใจ ขอให้“กฤษฎา” ทบทวน โดยเสนอดีล เกลี่ยงานกันใหม่ 

วิธีเคลียร์ปัญหานี้ แม้“พิชัย”จะถือเป็นสายตรงนายกฯ แต่ก็ต้องวัดใจว่า จะยอมถอยให้หรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงเครดิตการเมืองของตัวเองเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คีย์แมนทั้งสองพรรค มองว่าปมขัดแย้งดังกล่าว แม้“กฤษฎา”จะเปลี่ยนใจอยู่ต่อ การทำงานร่วมกับทีมเพื่อไทย ทั้ง “พิชัย-จุลพันธ์-เผ่าภูมิ” ไม่มีทางราบรื่น ต่างคนอาจต่างซ่อนกล-ซ่อนเล็บ เพราะไม่มีความไว้วางใจหลงเหลืออีกแล้ว

อีกด้านหาก“กฤษฎา”ไม่อยู่บรรดา“บิ๊กข้าราชการ”ซึ่งส่วนใหญ่เติบโตมาจากช่วงที่เขานั่งปลัดกระทรวงการคลัง หากมองต่างกับฝ่ายการเมือง อาจถูกระแวงหรือไม่ ฉะนั้น ไม่ว่าศึกระหว่าง “พิชัย” VS “กฤษฎา” บทสรุปจะออกมาอย่างไร บรรยากาศการทำงานของฝ่ายการเมือง-ข้าราชการ ภายในกระทรวงการคลัง คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป