posttoday

อัปเดตโครงการส่งต้นไม้ไปซาอุ ส.อ.ท. คาดดีลจบสิ้นปีนี้และเริ่มปลูกปีหน้า

30 มิถุนายน 2566

ประธาน ส.อ.ท. อัปเดตโครงการส่งต้นไม้ไปซาอุฯ คาดจะจบดีลภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มปลูกได้ต้นปีหน้า ล่าสุดให้ สอก. เป็นเจ้าภาพหลัก เริ่มรวบรวมรายชื่อต้นไม้ที่ปลูกได้ในแต่ละจังหวัด ภาคเหนือน่าจะเดินหน้าได้ก่อน พร้อมสรุปขั้นตอนติดต่อสำหรับผู้สนใจ

จากก่อนนี้ที่มีรายงานข่าวว่าทางประเทศซาอุดิอาระเบียต้องการนำเข้า 38 พันธุ์ไม้จากทั่วโลก นั้น ล่าสุดนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยกับ Post Today ถึงความคืบหน้าและโอกาสของไทยที่จะส่งต้นไม้ไปซาอุฯ ว่า  

ขณะนี้ทาง ส.อ.ท. ได้มอบหมายให้สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร  (สอก.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักของโครงการ ซึ่งทางคณะทำงานภายใต้ สอก. ได้เริ่มทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. แล้ว เพื่อรวมรวมรายชื่อพันธุุ์ไม้และข้อมูลของจังหวัดต่าง ๆ มีเหมาะสมและสามารถเพาะพันธุ์ไม้ ซึ่งพร้อมจะเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศซาอุฯ ได้

หลังจากนั้นทาง  สอก. จะเริ่มประชุมหาข้อสรุปของแต่ละภาคแล้วจะไปเจาะลึกในแต่ละจังหวัดต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มจากทางภาคเหนือซึ่งมีความพร้อมสูงสุดก่อน แล้วอาจจะตามมาด้วยภาคอีสาน และขยายไปยังภาคอื่น ๆ จนครบ เพราะแต่ละภาคก็จะมีความเหมาะสมแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ทำข้อตกลงร่วมกับทางรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้นั้น นายเกรียงไกรคาดว่าจะจบเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้ และทางเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการจะเริ่มปลูกได้ภายในต้นปี 2567 เพื่อให้ต้นไม้โตเพียงพอและส่งไปปลูกที่ซาอุฯ ได้ภายในปี 2573 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

"เราคุยกับทางซาอุฯ ว่าทางส.อ.ท. โดย สอก. จะช่วยดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยการออกใบรับรองให้กับต้นไม้ที่ส่งไปซาอุฯ"

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

อย่างไรก็ตาม ทาง ส.อ.ท. ยังต้องประสานและทำงานร่วมกับทางหน่วยงานราชการ ที่เชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถทางด้านเพาะพันธุ์ไม้และการปลูกต้นไม้ เช่น กระทรวงเกษตร สำนักวิชาการเกษตร ฯลฯ สำหรับการให้คำแนะนำและความรู้ต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตร/ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งต้นไม้ไปซาอุฯ ด้วย

ทั้งนี้หลังจากได้มีข้อสรุปกับทางซาอุฯ เรียบร้อยและมีข้อมุลครบถ้วนแล้ว ทางผู้สนใจสามารถติดต่อ เพื่อขอคำปรึกษาและข้อมูลกับอุตสาหกรรมจังหวัดที่เป็นเครือข่ายของ ส.อ.ท. ในแต่ละจังหวัดได้โดยตรง เช่น พันธุ์ไม้ที่ต้องปลูกคืออะไร 

ฝากถึงเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ผู้สนใจส่งต้นไม้ไปซาอุฯ ว่า หลังจากทำข้อตกลงและสรุปรายละเอียดกับทางซาอุฯ ได้เรียบร้อยแล้ว แนะนำให้รอติดตามและสอบถามกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดในแต่ละจังหวัดนั้น ๆ โดยตรงได้

สำหรับที่มาของโครงการส่งต้นไม้ไปซาอุฯ นั้นมาจาก Saudi Vision 2030 ที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2559 โดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud หรือ MBS) ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย

ด้วยต้องการมอบหมายให้สภากิจการเศรษฐกิจและการพัฒนา (Council of Economic and Development Affairs: CEDA) ดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะลดการพึ่งพารายได้หลักจากการขายน้ำมันดิบ และสนับสนุนการท่องเที่ยวมากขึ้น 

ทั้งนี้ตาม Saudi Vision 2030  ทางซาอุดีอาระเบียจะนำเข้าต้นไม้จากทั่วโลกรวมถึงไทย เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยการปลูกต้นไม้ 10,000 ล้านต้น เพื่อให้บรรลุตามนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (The Saudi Green Initiative) และยังรวมไปถึงเชิญชวนประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ผลักดันโครงการปลูกต้นไม้อีก 40,000 ล้านต้น เป็นรวมทั้งหมดที่ 50,000 ล้านต้น ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือตะวันออกกลางสีเขียว ( Middle East Green Initiative เพื่อร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภูมิภาคให้ได้มากกว่า 60% 

ภายใต้โครงการ  Saudi Vision 2030 ต้องการพลิกทะเลทรายให้เป็นพื้นที่สีเขียวตามแนวทาง The Saudi Green Initiative ที่นอกจากต้องการกรองฝุ่นแล้วยังช่วยลดอุณหภูมิได้ 5-8 องศา  ซึ่งในฐานะที่ซาอุฯ เป็นพี่ใหญ่จะเริ่มที่ 10,000 ล้านต้นก่อน แล้วชวนพันธมิตประเทศอื่น ๆ ปลูกอีก 40,000 ล้านต้น 

สำหรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับนั้น นายเกรียงไกรกล่าว่าอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะระบุตัวเลขที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ แต่หากประเมินโดยคร่าว ๆ บนสมมุติฐานที่ต้นไม้ราคาระหว่าง 200-300 บาทต่อต้น (ไม่รวมค่าขนส่ง) หากไทยสามารถชิงเค้กส่วนแบ่งของโครงการนี้ได้ประมาณ 10% หรือราว 1,000 ล้านต้น ก็จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 2 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ที่มีโอกาสส่ง 38 พันธุุ์ไม้ไปยังซาอุฯ ได้เช่นเดียวกับไทย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อียิปต์ และ เนเธอร์แลนด์ ทางส.อ.ท. ยังประสานงานและขอคำปรึกษากับทางกระทรวงเกษตร  เพื่อรวมรวมรายชื่อพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทยเป็นไม้หอมมีกลิ่นตรงกับรสนิยมของชาวตะวันออกกลาง ซึ่งเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในแถบตะวันออกกลาง  เพื่อนำเสนอเพิ่มเติมกับทางซาอุฯ อีกนอกเหนือจาก 38 พันธุ์ไม้ที่เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้  

สำหรับพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทยที่จะนำเสนอเพิ่มไปให้ทางซาอุฯ พิจารณา จะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มโอกาสให้เราสามารถส่งต้นไม้ไปซาอุฯ ได้มากขึ้นอีก