posttoday

กีรติ ชี้ช่องเอสเอ็มอี ศึกษาตลาดก่อนผลิตสินค้า ย้ำ ตลาดตะวันออกกลางน่าสนใจ

19 มิถุนายน 2566

พาณิชย์ตั้งเป้า ครึ่งปีหลัง ดันส่งออกให้เป็นบวก ชี้ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา น่าสนใจ แนะเอสเอ็มอี ศึกษา ความต้องการตลาดก่อน ผลิตสินค้า ย้ำ พาณิชย์ พร้อมช่วยสนับสนุน การหาตลาด เทคโนโลยี เงินทุน ชี้ ไทย มีจุดแข็งอาหาร เกษตรกรรม ปลื้มตัวเลขส่งออก ผลไม้ไทย ไปต่างแดน

วันที่ 19มิ.ย. ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ โพสต์ทูเดย์ จัดงาน Smart SME # ยุค AI เขย่าโลก ซึ่งเป็นเวทีที่จะถ่ายทอดทิศทางการสนับสนุนจากผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ SME พร้อมเจาะลึก SME ที่นำเครื่องมือเทคโนโลยีมาใช้สู่ความสำเร็จ 
ภายในงาน นายวีระชัย อมรถกลสุเวช รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) นส.เบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า โลตัส นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าส่วนงานการตลาดลูกค้าองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม AIS ร่วมเสวนาในหัวข้อ How to be Smart SME

นอกจากนี้ นส.ปรัชญ์ชนรรทน์ นิธิวาสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ มัลติพลาย จำกัด และระบบ MEWE นายกวิน นิทัศนจารุกุล ผู้ก่อตั้ง Otteri wash & dry บริษัท เคเน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเอสเอ็มอีดาวเด่นของไทย ที่จะมาแบ่งปันมุมมอง เอสเอ็มอี ยุคใหม่ ภายในงานมีผู้บริหารระดับสูงเครือเนชั่นกรุ๊ป และ โพสต์ทูเดย์ เข้าร่วมงาน ท่ามกลางประชาชน ผู้ประกอบการ ที่สนใจเดินทางมารับฟังการเสวนาอย่างคับคั่ง

 

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ ‘สร้างแต้มต่อ SME ไทยในตลาดโลก’ ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีล้ำหน้าไปมากทั้ง เอไอ โรบอท แชทจีพีที โต้ตอบได้เหมือนมนุษย์ แต่ยังเชื่อว่า มีบางอย่างเทคโนโลยี ทำงานหรือสู้มนุษย์ไม่ได้ มนุษย์มีความเหนือกว่าเทคโนโลยี ในเรื่องเอสเอ็มอี ถ้าดูเมื่อปี2565 กระทรวงพาณิชย์มีส่วนในการสนับสนุน จีดีพีประเทศกว่า 6 ล้านล้านบาท แม้ส่วนใหญ่เป็น เรื่องท่องเที่ยว แต่ถ้าไปดูในส่วนที่เล็กลงมาอย่าง เอ็มเอสเอ็มอี กว่า 3 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค้า บริการ ที่ทำให้มูลค่ากว่าส่งออกมากกว่า 1.0 ล้านล้านบาท 

รัฐบาลมีแนวทางการส่งเสริมชัดเจน ทั้งแผนการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ฉบับที่5 แม้ในปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจโลกคุกคามเรา เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ นับเฉพาะสงครามรัสเซีย ยูเครน เรื่องน้ำมัน ส่งผลกระทบมหาศาล สิ่งที่กังวลคือ ประเทศที่จ้องและกำลังจะมีปัญหากัน ได้แต่ภาวนาอย่าเลย ไม่อยากให้เกิดผลกระทบที่จะเกิดมหาศาล ขณะเดียวกัน เรื่องเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐหรือประเทศอื่น เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือเช่นกัน เรื่องการเปลี่ยนแปลง climate change เป็นสิ่งที่กังวลในผลกระทบที่ตามมา แต่เชื่อว่า ปัญหาต่างๆ มีทางออก เราจะต้องสู้กับมัน หนีไปไหนไม่ได้ อยากให้มองโลกในแง่ดี 

 

กีรติ ชี้ช่องเอสเอ็มอี ศึกษาตลาดก่อนผลิตสินค้า ย้ำ ตลาดตะวันออกกลางน่าสนใจ

การส่งออก เดือนเมษายน2566 มีมูลค่า 21,723 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 737,788 ล้านบาท ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มีมูลค่าส่งออกกว่า 92,003 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการนำเข้าระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน  96,519 ล้านเหรียญ แม้ในภาพรวมทั้งการส่งออก นำเข้าจะติดลบอยู่บ้าง เมื่อไปดูสินค้าที่ขยายตัว3เดือนต่อเนื่อง ช่วง3-4เดือนที่ผ่านมา สินค้าทางการเกษตร โตกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ มังคุดสด ทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง ล้วนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น เมื่อไปดูภาพรวมการส่งออกประเทศ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน แล้วพบว่า ประเทศไทยติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น 

ช่วง6เดือนหลัง ขอยืนยันว่า จะทำให้ดีกว่านี้ จะทำให้เป็นบวก 1-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ให้เอกชนนำ รัฐเป็นคนหนุน เอกชนจะบอก ตลาดไหนน่าสนใจ ให้พาณิชย์ไปช่วยตรงไหน เรายินดี โดยเฉพาะตะวันออกกลาง แอฟริกา น่าสนใจ ตั้งไว้ให้โตกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใน ภูมิภาคเอเชียใต้ ก็อยากให้โตกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ มีหลายสิ่งที่จะทำ ที่เราตกผลึก เตรียมไว้หมดแล้ว ก่อนหน้าเปิดเอฟทีเอ 14 ฉบับ 18 ประเทศ อยู่ระหว่างเจรจาอีก 8 ฉบับ เป็นสิ่งที่เราพยายาม ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดโลก 

นายกีรติกล่าวว่า บทบาทกระทรวงพาณิชย์ ที่จะช่วยผู้ประกอบการ มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บริการจดทะเบียนธุรกิจ การอำนวยความสะดวก นำระบบดิจิทัลเข้ามา ให้เกิดความสะดวกสบาย มีการคาดการณ์ นักท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา ต้องเตรียมรองรับให้พร้อม โดยกระทรวงพาณิชย์เอง จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมธุรกิจไทยให้เข้มแข็งแข่งขันได้ สร้างธรรมาภิบาลธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือ กำกับดูแลธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย 

กระทรวงพาณิชย์ยังส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ภายใต้ 3P 1S มีหลักสูตรการอบรวม ส่งเสริมจำนวนมาก ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับการอบรมในปี2566 ตั้งเป้าให้มีมากกว่า 6 หมื่นราย จะช่วยผู้ประกอบการสร้างแบรนด์ นวัตกรรม การดีไซน์ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบอื่น ให้เอสเอ็มอี มีความแข็งแกร่ง 

"เราพยายามสื่อสารว่า ให้ใช้การตลาดนำการผลิต เราบอกเอสเอ็มอีเสมอว่า ควรไปศึกษาผู้ซื้อก่อนชอบแนวไหน ผลิตอะไรดี อย่าทำให้เขาซื้อเพราะแปลก หรือไม่เคยเห็น ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ในวันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะถ้าเกิดการซื้อซ้ำ จะเป็นสิ่งที่ดี ต้องทำสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เรื่องช่องทางตลาด จัดจำหน่าย เรามีหน้าที่หาช่องทางให้ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ทั้งแบบออฟไลน์ ออนไลน์ เช่นเดียวกับ การให้บริการด้านข้อมูลต่างให้เอสเอ็มอี รู้ว่า ตลาดกำลังต้องการแบบไหน และอะไร นำมาซึ่งการวิเคราะห์การที่จะทำสินค้าอะไรดี"นายกีรติกล่าว 

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวอีกว่า คำถามที่มักโดนถามตลอด ไม่ว่าจะเป็น ส่งออกอะไรดี ก็ตอบไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่า ท่านมีอะไรอยู่ในมือ แต่ทุกอย่างเราต้องทำงานด้วยกัน เอาสินค้าผู้ประกอบการมา แล้วเราไปช่วยขาย ตลาดตอนนี้ในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ กำลังน่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งตลาดเดิม ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ แต่เราต้องกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างๆ คำถามที่มักโดนถาม เอสเอ็มอีเดินไปทางไหน ทำธุรกิจอะไรดี แน่นอนตอนนี้ ท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา สิ่งที่ตามมา อาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม จะเริ่มกลับมาหลังเราเปิดประเทศแล้ว เป็นสิ่งที่คนไทยถนัด ฟื้นฟู ธุรกิจการท่องเที่ยว 

ด้านส่งออก ยังยืนยันว่า เรื่องอาหาร เกษตรกรรม ที่เรามีจุดแข็ง ขอให้ความมั่นใจได้ว่า เราเป็นแหล่งผลิตอาหาร ด้วยความที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป เราก็ต้องหาทางเลือกใหม่ๆทางด้านอาหาร เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารอะไรที่กินแล้วไม่ป่วย อาหารสู้โรคภัยไข้เจ็บ อาหารทางการแพทย์ อาหารทางออร์แกนิค หรือการทำสินค้า รักษ์โลก จากวัสดุธรรมชาติ ในสินค้าไลฟ์สไตล์ กระเป๋า เสื้อผ้า นำมาปรับใช้ได้หมด

เมื่อไปคุยผู้ประกอบการภูมิภาคหลายๆครั้ง อยากให้เราสนับสนุนข้อมูล ช่องทางการขาย เทคโนโลยี เงินทุน ซึ่งเราก็ยินดี ได้รวบรวมแผนงานกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด ที่จะบูรณาการกันทำให้เกิดประโยชน์ต่อเอสเอ็มอี และมีแนวทางช่วยเหลือตั้งแต่ ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ เราถือว่า เขาคือ เส้นเลือดที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก เกี่ยวข้องกับคนมากมาย เอสเอ็มอีมีหลายระดับ แต่ละระดับต้องการการช่วยเหลือไม่เหมือนกัน

สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ พยายามอย่าทำอะไรเกินตัว เป็นสิ่งที่ต้องเตือน หน่วยงานรัฐ พร้อมสนับสนุน ความรู้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ถ้ายังทานเหล้า การพนัน สิ่งเหล่านี้เราช่วยไม่ได้ ถ้าใช้เงินผิดประเภท ถ้าเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงยังไงก็รอด เป็นสิ่งที่ฝากไว้ให้คิด หากเอสเอ็มอี มีอะไรสอบถาม เรายินดี พร้อมรับฟังทุกปัญหา พร้อมช่วยแก้ไข 

 

กีรติ ชี้ช่องเอสเอ็มอี ศึกษาตลาดก่อนผลิตสินค้า ย้ำ ตลาดตะวันออกกลางน่าสนใจ