posttoday

ม.ขอนแก่น ดันสตาร์ทอัพไทย เปิดตัวเครื่องผลิตยาแบบนาโนครั้งแรกในอาเซียน

15 มิถุนายน 2566

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจับมือลิลลี่ ฟาร์มา เปิดตัว Lily Nanoemulsion Homogenizer machine เทคโนโลยีการผลิตแบบนาโนอิมัลชั่น ครั้งแรกในอาเซียน ปฏิวัติรูปแบบวงการอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพอาหาร ยา และเครื่องสำอาง

นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า นโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสร้างสตาร์ทอัพ คือการร่วมทุนกับภาคเอกชน ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยเริ่มจากมุมมองความต้องการของตลาดในผลิตภัณฑ์นั้นๆ และย้อนกลับมาดูกระบวนการผลิตว่าสามารถแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีได้หรือไม่ หากเป็นไปได้ก็จะกลับมาค้นหากระบวนการวิจัยที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราเรียกแนวคิดนี้ว่า เป็นการวิจัยสู่ตลาด โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ทำการวิจัย การผลิต และนำออกสู่ตลาด

ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการวิจัยและการทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละฝ่าย เพื่อ ให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ในการทำ สตาร์ทอัพ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ดำเนินการร่วมมือกับทางบริษัท มิส ลิลลี่  และได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนในปี 2565 เพื่อเป็นบริษัทร่วมทุนที่เน้นเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่นในการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น N-Dro care mouth spray

นอกจากนี้บริษัทร่วมทุนได้นำความรู้มาต่อยอดสู่การผลิตเครื่องจักรนาโนอิมัลชั่นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยเพื่อนำความรู้จากงานวิจัยออกสู่ตลาด

ด้านนายมนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทิศทางของเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น และงานวิจัยในหลายสาขาได้ให้ความสำคัญกับการนำส่งสารในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น ซึ่งเป็นการนำสารออกฤทธิ์ให้อยู่ในส่วนของน้ำหรือน้ำมันที่มีขนาดอนุภาคนาโน โดยถูกผสานเข้าด้วยสารอิมัลซิไฟเออร์ เป็นการนำส่งสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว และใช้สารในปริมาณน้อย

ม.ขอนแก่น ดันสตาร์ทอัพไทย เปิดตัวเครื่องผลิตยาแบบนาโนครั้งแรกในอาเซียน ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสัตว์ ซึ่งปัจจุบันในหลายอุตสาหกรรมได้พยายามที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่นออกสู่ท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและยาสัตว์ และอื่นๆ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในการผลิตเนื่องจากเครื่องจักรดังกล่าวมีราคาที่สูงมาก

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ร่วมมือกับบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด ในการสร้างกระบวนการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง นาโนอิมัลชั่น โฮโมจีไนเซอร์ จากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย จากทีมงานนักวิจัยและวิศวกรของบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด ที่สามารถนำข้อมูลและประสบการณ์จากห้องวิจัยที่มีข้อจำกัด มาพัฒนาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม (Production Scale)

เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับวงการอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น ซึ่งสามารถนำสารออกฤทธิ์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเรากำลังทำการวิจัย ทั้งยาสัตว์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยากำจัดวัชพืช รวมไปถึงอาหารเสริมที่อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น

ม.ขอนแก่น ดันสตาร์ทอัพไทย เปิดตัวเครื่องผลิตยาแบบนาโนครั้งแรกในอาเซียน

ขณะที่นายเรวัต จินดาพล  CEO บริษัท เคเคยู มิสลิลลี่ โฮลดิ้ง จำกัด (KKU Miss Lily Holding Co.,Ltd.)  เปิดเผยว่า จากการทํางานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้มี Technical know how ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในห้องปฏิบัติการ จนสามารถนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมจะต้องใช้เครื่องจักรที่สามารถทำให้สารแตกตัวเป็นอนุภาคระดับนาโน โดยทั่วไปในต่างประเทศจะใช้เครื่อง High pressure nano homogenizer ซึ่งจะมีราคาแพงมาก เช่น ขนาด 300-500 ลิตร จะมีราคาหลักร้อยล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมทั่วไปมีข้อจำกัดในการลงทุนเครื่องจักรเหล่านี้ ทางทีมวิศวกรของบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ KKU Miss Lily Holding ได้พัฒนาเครื่องจักรในรูปแบบ High speed nano homogenizer และเครื่องจักรพ่วง จนทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องจักรนาโนอิมัลชั่นในกลุ่มอาเซียน

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายที่จะนำเครื่องจักรนี้ไปร่วมมือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น โดยบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่นและนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนของทางบริษัทและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ประเทศไทยได้กลาย เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีนี้ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในทางเศรษฐกิจได้

นายฐาปกรณ์ อุประ Chief of Technology officer บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด กล่าวว่า สำหรับจุดเด่นของเครื่อง High speed nano homogenizer คือ เทคนิคการเฉือนอนุภาค (Shearing) ด้วยใบพัดปั่นที่มีความเร็วสูง และมีหัวปั่นพร้อมกัน 3 หัว (Vertical Multiple Rotor Stator Head) ซึ่งทำให้อนุภาคมีขนาดที่เล็กลงกว่า 100 นาโนเมตร และมีความสม่ำเสมอของขนาด เนื่องจากมีหัวปั่นที่เรียงตัวอยู่ 3 ระดับในถัง

ม.ขอนแก่น ดันสตาร์ทอัพไทย เปิดตัวเครื่องผลิตยาแบบนาโนครั้งแรกในอาเซียน นอกจากนี้เครื่องจักรพ่วงอื่นๆ เช่น Oil mixer และ Water mixer ยังมีถังน้ำควบคุมอุณหภูมิในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถผลิตในระบบสุญญากาศได้ ทำให้เครื่องจักรดังกล่าวสามารถผลิตสารนาโนอิมัลชั่นให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ห้องวิจัยได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ เทคโนโลยี High speed nano homogenizer ยังช่วยให้ประหยัดเวลาและพลังงานในการผลิต รวมถึงประหยัดต้นทุนในการบำรุงรักษาน้อยลงกว่าระบบอื่นมาก