posttoday

แอดไวซ์เพิ่มศูนย์บริการ 100 สาขา รับมือตลาดไอทีชะลอ

13 มิถุนายน 2566

แอดไวซ์ ขยายศูนย์บริการเพิ่ม 100 แห่ง ภายในปีนี้ หนุนบริการหลังการขาย หลังการ์ทเนอร์ระบุ ตลาดไอทีปี 66 ชะลอตัว เร่งเดินหน้าเพิ่มทักษะบุคลากร ต่อยอดนวัตกรรมสู่ลูกค้า

นายทศพล เปรมประสพโชค ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจงานบริการ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกผลิตภัณฑ์ไอทีมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก แอดไวซ์ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกไอทีตระหนักดีว่าการเติบโตที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอนหากยังไม่พัฒนาด้านการบริการให้สามารถทัดเทียมกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น 

ดังนั้นภายในปี 2566 จึงได้จับมือกับพาร์ทเนอร์ด้านไอทีชั้นนำเพื่อขยายศูนย์บริการกว่า 100 สาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบัน แอดไวซ์มีทั้งหมด 338 สาขา ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงใน สปป.ลาว นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในเพิ่มและพัฒนาบุคลากรด้านบริการ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าแอดไวซ์ทั่วประเทศ ทั้งในด้านการให้คำแนะนำ เสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการเคลมสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากบริษัทจะมุ่งเน้นการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าของแอดไวซ์แล้ว ในอีกทางหนึ่งก็ยังให้ความสำคัญกับการเสริมทักษะ พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากร ผ่านการเทรนนิ่งในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพิ่มองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สามารถก้าวตามทันอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยมอบโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกไอทีมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคทั้งในเชิงชีวิตส่วนตัวและในการทำงานเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ด้านไอทีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน 

จากความนิยมด้านนวัตกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมด้านบริการได้รับอานิสงส์ควบคู่ไปด้วย “การบริการ” เป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญอย่างมากในทุก ๆ ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็น การให้ข้อมูลหรือคำแนะนำ การตอบข้อสงสัย รวมไปถึงการซ่อมหรือเปลี่ยนในอุตสาหกรรมที่มีผลิตภัณฑ์เป็นตัวดำเนินธุรกิจ 

ทว่าในปี 2566 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลง จนผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านไอทีและนวัตกรรมมีการชะลอการเติบโต จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ดีมานต์ถูกเร่งให้โตสูงขึ้นจากความจำเป็นในการใช้งานกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งการเรียนและการทำงาน 

ส่งผลให้ในปี 2566 การขยายตัวของตลาดมีสัดส่วนที่น้อยลง ในทางกลับกันลูกค้ากลับมองหาช่องทางการให้บริการหลังการขายมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการใช้งานของอุปกรณ์ไอทีที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง สอดคล้องกับผลสำรวจของ การ์ทเนอร์ ที่คาดการณ์ว่าในปี 2566 กลุ่มผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และบริการไอที จะเติบโตสูงสุดที่ 9.3% และ 5.5% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มอุปกรณ์ไอทีถูกคาดการณ์ว่าการเติบโตจะลดลงอยู่ที่ 5.1%