logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

ลุ้นรัฐบาลใหม่ ไฟเขียว ระบบตั๋วร่วม จ่ายแรกเข้ารถไฟฟ้าอัตราเดียวกัน

26 พฤษภาคม 2566

ปัญญา ชูพานิช ผอ.สนข. ชี้รอลุ้น รัฐบาลใหม่เคาะร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม หนุนจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าอัตราเดียวกัน ลดภาระค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน พร้อมตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมเยียวยาเอกชน หนุนรายได้ ปีละ 1.5 พันล้านต่อปี

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่ผ่านมาสนข.ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วมแล้ว หลังจากนั้นจะนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (คตร.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่เป็นประธานและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 

“หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนจะเริ่มประกาศและมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไรยังตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาในสภาฯด้วย”
 

ส่วนสาระสำคัญภายในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. เกี่ยวกับเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม,ระเบียบวิธีการปฏิบัติการบังคับใช้,การจัดตั้งสำนักงานและกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เป็นต้น

 

นายปัญญา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่การใช้ระบบตั๋วร่วมมีความล่าช้า เนื่องจากโครงการฯนี้เป็นการให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมตามความสมัครใจ ซึ่งทำให้ค่อนข้างยาก เพราะมีเรื่องของพ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายภาคบังคับที่เข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.มีการระบุให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งสนข.จะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมและรูปแบบการตั้งสำนักงานฯ ตามที่ระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อออกกฎหมายลูกมารองรับด้วย โดยการจัดตั้งกองทุนฯนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการมาดูแลกองทุนฯตามระเบียบกฎหมายของกรมบัญชีกลาง ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ขณะที่การตั้งสำนักงานในการบริหารจัดการดูแลระบบตั๋วร่วม จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารดูแลสำนักงานฯ ด้วย

 

ขณะเดียวกันสนข.ได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการที่ได้รับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละสายถึงโครงการฯดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นจากการหารือในช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วย หากมีการออกกฎระเบียบชัดเจนสามารถที่จะดำเนินการได้ 

 

วัดใจรัฐบาลใหม่ ไฟเขียว “ระบบตั๋วร่วม”

นายปัญญา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังติดปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าจะกระทบต่อการใช้ระบบตั๋วร่วมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ ซึ่งการต่อสัญญาสัมปทานมองว่าเป็นคนละเรื่องกับการใช้ระบบตั๋วร่วม 

 

ส่วนกรณีที่ค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าแต่ละสายมีผู้ประกอบการสัญญาสัมปทานคนละรายจะเข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมอย่างไรนั้น ตามหลักการแล้วระบบนี้จะเป็นการเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียว หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  หลังจากนั้นในระยะต่อไปจะต้องศึกษาการคิดคำนวณอัตราค่าโดยสารต่อระยะทาง ฯลฯ 

 

“หากระบบรถไฟฟ้าทุกสายมีการใช้ระบบตั๋วร่วมจะต้องแก้สัญญาสัมปทานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาสัมปทานเดิมอยู่แล้ว หากมีการกำหนดให้แก้ไขก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย”  

 

สำหรับแผนการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม โดยนำเอารายได้จากหลายส่วน อาทิ การสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนแบ่งรายได้หรือผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ให้บริการขนส่งรายใหม่เมื่อสัญญาสัมปทานมีข้อสัญญาให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการตั๋วร่วม และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน เป็นต้น โดยเบื้องต้น สนข.ประเมินว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าที่มีรายได้ลดลงเฉลี่ยรวมปีละ 1,300 - 1,500 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามสนข.จะดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาเริ่มต้นศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเจรจาธุรกิจในการกำหนดและประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม (Common Fare) สำหรับระบบขนส่งมวลชนที่เข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมทั้งหมด หลังจากนั้น สนข.เตรียมเสนอของบประมาณประจำปี 2567 ราว 1,600 ล้านบาท เพื่อศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และพัฒนาศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ต่อไป