posttoday

ตั้งรัฐบาล66: “พลังงาน” มองรัฐบาลใหม่ รื้อสัญญาโรงไฟฟ้ายาก

19 พฤษภาคม 2566

ย้ำทุกการทำสัญญา รัฐมีความรัดกุม ส่วนการแก้ปัญหาด้านราคาเป็นไปได้หมด หากมีงบประมาณสนับสนุน ด้าน “ส.อ.ท.” ระบุ เริ่มเห็นความหวังค่าไฟถูกลง ขณะที่ “เลขาฯพลังงาน” ชู 3 โจทย์หินรับมือค่าไฟแพง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน วิเคราะห์ถึง นโยบายรัฐบาลใหม่ การปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง นั้น ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการต้นทุน และการยืดหนี้ค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่ยังค้างจ่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไป โดยมีการหาแหล่งเงินให้กับกฟผ. หรือการหาเงินสนับสนุนอื่น ๆ ได้ เป็นต้น 

ส่วนการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตสอดคล้องกับปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชนนั้น ต้องอธิบายว่า  ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งเป้าว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยจะเติบโตถึง 5% ต่อปี จึงต้องผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริง GDP ของไทยขยายตัวแค่ 1% กว่าต่อปี จึงเป็นสาเหตุให้รัฐต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งในจุดนี้ ถือเป็นวิกฤตทั่วโลก 

อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเศรษฐกิจที่โตขึ้น ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นมาตามความคาดการณ์แล้ว ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคประชาชนบางส่วน เรียกร้องให้มีการปรับแก้สัญญาซื้อขายไฟกับโรงไฟฟ้าเอกชนนั้น ข้อนี้ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญคือจะต้องดูข้อกฏหมายของสัญญาที่ได้ดำเนินการร่งวมกันซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กฟผ. และโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญามีอยู่ในมือ 

“กระทรวงพลังงานเองก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงนี้ เชื่อว่าการทำสัญญาต่าง ๆ ของภาครัฐรัดกุมอยู่แล้ว เพราะเป็นการทำสัญญาระดับราชการ คงไม่มีใครอยากติดคุก ซึ่งการจะปรับแก้ไขสัญญาหรือทบทวนอะไรก็คงต้องดูรายละเอียดเชิงลึก และนำทั้งเหตุและผลมาคุยกัน" 

ในส่วนของนโยบายที่จะเร่งจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยอย่างน้อยก็เท่ากับก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทย ซึ่งต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วยนั้น กระทรวงพลังงานได้หารืออย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาและขับเคลื่อนอย่างจริงจังก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สำหรับการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก โดยลดขั้นตอนขออนุญาตและการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ. รวมทั้งจัดหาแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่คุณภาพดีและราคาถูกให้ประชาชนนั้น ถือเป็นนโยบายที่แทบจะทุกพรรคให้ความสำคัญ หากรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจัง ก็สามารถทำได้หมด ส่วนขั้นตอนการขอติดตั้งหรือการขายไฟ สำนักงานกกพ. มีเงื่อนไขและขั้นตอนอยู่แล้ว หากจะเอื้ออำนวยให้มีความรวดเร็วขึ้นก็ทำได้ แต่ต้องดูปัจจัยรอบด้านโดยเฉพาะบ้านที่จะติดตั้งว่ามีความพร้อมหรือไม่ อย่างไร 

แหล่งข่าว กล่าวว่า ส่วนนโยบายให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟลดลง อีกทั้งสามารถจำหน่ายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้ประเทศที่มีความต้องการเพื่อนำรายได้เข้าประเทศนั้น ปัจจุบันกฟผ. อยู่ระหว่างการดำเนินจัดทำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟสะอาดกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท ดังนั้น นโยบายทุกอย่างของพรรคการเมืองที่หาเสียง มีทั้งทำได้ทันที และทำไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ งบประมาณ

ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มองทิศการแก้ไขราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยจะดีขึ้น หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายการหาเสียงของทุกพรรคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้แสดงวิธีการลดราคาชัดเจนเหมือนพรรคก้าวไกล แต่โดยการเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเดียวกัน บวกกับเป็นโจทย์ที่ทั้งประเทศรับรู้ร่วมกันไปแล้วก็น่าจะมีการพิจารณาถึงแนวทางที่ทำให้ราคาลดลง

"แม้ว่าส่วนตัวในภาพรวมที่คนข้างนอกมองว่า บางพรรคมีคอนเน็คชั่นเดิมอยู่บ้างกับกลุ่มทุนพลังงาน แต่หากมองในตอนนี้เรื่องพลังงานถือเป็นกระแส และทุกพรรคร่วมรัฐบาลมีนโยบายลดพลังงานในทิศทางเดียวกัน จึงเชื่อว่าจะสามารถทำได้" 

ขณะที่นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารจัดการราคาพลังงานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด จะต้องเจอกับ 3 โจทย์หลักในการบริหาร ได้แก่ 1. สถานการณ์ราคาตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตพลังงานเองได้เพียงพอ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ

2. พฤติกรรมการใช้พลังงาน ยิ่งประชาชนใช้เกินกว่าที่ผลิตได้ ย่อมต้องพึ่งพาการนำเข้าด้วยราคาแพง และ 3. สัญญาพลังงานที่ทำมาตั้งแต่ในอดีต ทำให้นโยบายที่จะนำมาใช้อาจมีความยากง่ายแตกต่างกันไป