posttoday

“สุพัฒนพงษ์” ไม่นำมาตรการตั้งโรงงานแบตอีวีเข้าครม.รอรัฐบาลหน้าตัดสินใจ

16 พฤษภาคม 2566

ครม.รับทราบ มาตรการ EV3.5 ตามที่บอร์ดอีวีเสนอ ปรับมาตรการเอื้อค่ายรถยนต์ยุโรปนำเข้ารถอีวี ขายในประเทศ และสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตในภายหลังเป็นรถรุ่นอื่น รวมทั้งผลิตรถกระบะไฟฟ้าทดแทนได้ ส่วนมาตรการส่งเสริมตั้งโรงงานแบตอีวี ให้รัฐบาลหน้าตัดสินใจ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่ประชุมมีมติรับทราบมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า “มาตรการ EV3.5” ตามมติคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ใน ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ ส่วนมาตรการที่เหลือที่อยู่ในแพ็กเกจ EV3.5 ที่ต้องใช้งบประมาณจะต้องให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ดังนั้นจึงทำให้มาตรการสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่ต้องสนับสนุนงบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ไม่ได้นำเข้าเสนอต่อที่ประชุมครม.แม้ว่าจะมีผู้สนใจแสดงความจำนงขอรับมาตรการสนับสนุนดังกล่าว คือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) ก่อนที่จะมีการยุบสภาแล้วก็ตาม 

สำหรับมติที่ครม.รับทราบประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 

1.กำหนดให้กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชยการนำเข้า

2.กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 kWh ขึ้นไป ซึ่งกำหนดให้ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้า หากมีกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ์ แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกัน ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ์

การปรับมาตรการในส่วนนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ 2 อย่าง คือ สำหรับค่ายรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนรุ่นและซีรีย์ในการผลิตรถอยู่เป็นระยะ เช่น กรณีของค่ายรถเบนซ์ หรือ BMW อาจนำเข้ารถอีวี ที่เป็นซีรีย์ปัจจุบันเข้ามาขาย แต่เมื่อจะผลิตชดเชยในประเทศจะต้องผลิตรถรุ่นใหม่กว่าเดิม หรือรถที่มีการเปลี่ยนซีรีย์แล้วซึ่งเงื่อนไขแบบนี้จะจูงใจให้ค่ายรถยนต์สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในเงื่อนไขที่ระบุในการผลิตรถอีวี ทดแทนการนำเข้าได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมที่ต้องผลิตรถอีวี เหมือนกับที่นำเข้าให้เป็นการผลิตรถกระบะไฟฟ้าทดแทนได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตรถกระบะไฟฟ้าให้กลายเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนเหมือนที่สามารถผลิตรถกระบะจนส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบมาตรการที่บอร์ดอีวี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า สามารถสรุปผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย

1.ด้านอุปทาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตชิ้นส่วน 17 ชิ้น รวมทั้งการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) จำนวน 15 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 2.77 หมื่นล้านบาท ผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 77 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 1.84 หมื่นล้านบาท

และผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 2,174 ล้านบาท ครอบคลุมหัวชาร์จปกติ (Normal Charge) จำนวน 5.076 จุด และหัวชาร์จเร็ว (Quick Charge) จำนวน 3,960 จุด

2.ด้านอุปสงค์ กรมสรรพสามิตได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3) โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 ราย ประกอบด้วย ผู้ผลิตรถยนต์และรถกระบะ จำนวน 9 ราย (GWM, TOYOTA, SAIC- MOTOR, MG, BYD, BENZ, NETA, MINE และ GREEN FILTER) และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ราย (HONDA, DECO และ HSEM)

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้าง และการเช่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ในภารกิจแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน หรือที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับภารกิจใหม่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ รวมทั้งเพิ่มเติมรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนกลาง

3.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวม 123 มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล

รวมทั้ง เปิดให้บริการทดสอบยานยนต์ ยางล้อ และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน UN R100 และ UN R136 ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center : ATTRIC) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดฉะเชิงเทรา