posttoday

ตั้งรัฐบาล66 : วรวรรณ ตีโจทย์รัฐบาลใหม่จากก้าวไกลกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม

16 พฤษภาคม 2566

วรวรรณ ธาราภูมิ ตีโจทย์รัฐบาลใหม่เกิดจากพรรคก้าวไกลจับมือพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่นโยบายไม่ขัดกัน โดยพิธาจะขึ้นเป็นนายกฯได้ ต้องฝ่าด่าน กกต. และส.ว. ฝากจับตาปราบคอร์รัปชั่น ขจัดทุนผูกขาด ตลอดจนดูแลคนชั้นกลางและคนตัวเล็กให้ได้มีอาชีพและพึ่งตัวเองได้

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ. บัวหลวง ให้ความเห็นต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่า แนวทางน่าจะเป็นพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจะเป็นผู้นำในการก่อตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่น ๆ ที่เคยเป็นฝ่ายค้าน หรือมีแนวคิดส่วนใหญ่ที่ไปด้วยกันกับพรรคหลักทั้งสองพรรคได้ โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับเรื่องจำนวนเสียง ส.ส. นั้น นางวรวรรณมองว่า เพียงสองพรรคหลักร่วมกันคือก้าวไกลกับเพื่อไทยก็ใกล้จะ 300 คนแล้ว ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักต่อสู้ที่มากพอเมื่อเทียบกับพรรคที่เหลือรวมกัน แต่หากกังวลเรื่องสมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.) จะไม่ยอมเห็นชอบกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ก็ให้พรรคอื่นมารวมกันเพิ่มอีกจนได้เสียงเกิน 300 สักหน่อย ก็จะมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้ ส.ว. อีก 250 เสียงพิจารณาว่าจะสมควรหรือไม่ ที่จะยับยั้งมิให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่นายพิธา

"การจะเชิญพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลนั้น จะต้องไม่ขัดต่อนโยบายที่เคยประกาศ มิฉะนั้นความน่าเชื่อถือของก้าวไกลและเพื่อไทยจะถูกสั่นคลอน"

ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ควรจับตามอง คือ ในแง่นักธุรกิจหรือประชาชนทั่วไป ที่ย่อมอยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุดและให้เป็นรัฐบาลที่มีความยั่งยืนพอ ไม่ใช่เป็นรัฐบาลไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีก เพราะจะทำให้เศรษฐกิจและสัมพันธภาพของคนในบ้านเมืองยิ่งแตกแยกจนบอบช้ำมากขึ้น

ดังนั้น เรื่องนี้ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งอุปสรรคด่านแรก คือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  เพราะ กกต. จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของแต่ละคนว่าได้ทำผิดกฏหมายเลือกตั้งกันหรือไม่ 

ตัวอย่างเช่นกรณีถือหุ้น ITV ของนายพิธา นั้น กกต. อาจจะถือว่าไม่ผิดอะไร หรือบกพร่องโดยสุจริต หรือผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วถ้าไม่มีอะไรผิดก็ผ่านด่านแรก แต่ถ้า กกต. มองว่าผิดก็คงจะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีนี้มันจะเกิดความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ ตลอดจนถึงขั้น Social Unrest จากผู้ลงคะแนนเสียงเลือกเขาก็ได้  

สำหรับในความเห็นส่วนตัวนั้น นางวรวรรณมองว่าต้องการให้พิจารณาโดยเจตนารมย์ของกฎหมาย มิใช่เพียงแค่ดูตัวอักษรที่เขียนในกฎหมายเท่านั้น และแน่นอนว่าจะต้องดูเจตนารมย์ของคุณพิธาด้วยว่าเขากระทำด้วยเจตนาจะซุกหุ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองอันมิชอบหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีอีกด่านคือ ส.ว. ในกรณีจะยอมรับคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า ส.ว. คงลำบากใจพอดูว่าจะลงคะแนนเสียงอย่างไร เนื่องจากนโยบายหลักประการหนึ่งของพรรคก้าวไกล คือการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งก็อาจมองได้ว่ามันจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของชาติ

โดยเฉพาะเรื่องที่ตัวหลัก ๆ คนอื่นในพรรค หรือที่ยืนเคียงข้างพรรคมักจะบุ่มบ่ามผลีผลามให้ความเห็นหรือคำพูด ที่เสียดแทงใจประชาชนที่ผูกพันกับเบื้องบนอย่างก้าวร้าว ซึ่งเรื่องนี้บอกได้เลยว่ายังมีคนจำนวนมากที่จะไม่ยินยอม และไม่เกี่ยวกับคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย

"แต่หาก ส.ว.ไม่ยอมรับ ก็จะถูกลากไปจนถึงขั้น Social Unrest ได้เหมือนกัน"

นางวรวรรณ ยังให้ความเห็นต่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อีกว่า ด้วยอายุนายพิธาที่เลย 40 ปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่เด็กแล้ว จึงเชื่อว่าจะมีวุฒิภาวะเพียงพอต่อการรับหน้าที่ แม้จะยังไม่เห็นฝีมือทำงานใหญ่อะไร แต่ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการรับตำแหน่ง

เพียงแต่ขอให้ใช้ความฉลาดที่มี ใช้ทีมงานที่เหมาะสมกับตำแหน่ง (ไม่ใช่แจกโควต้าโดยไม่พิจารณาความเหมาะสมของคน) ใช้ความจริงใจที่มีต่อบ้านเมือง ทำหน้าที่โดยสุจริตและรอบคอบ ไม่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ จนทำให้บ้านเมืองสูญเสียอธิปไตยให้มหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ ขอเน้นเรื่องความรอบคอบ เพราะสิ่งผิดพลาดที่เกิดมาแล้วนั้นเกิดจากความไม่รอบคอบ จึงควรมีนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญจริง ๆ มาช่วยดูให้ในหลาย ๆ เรื่อง หากมีนักกฏหมายที่ใช้อยู่แล้วก็ต้องบอกว่าเขาอาจจะไม่เหมาะสมเพราะไม่ถนัด หรือไม่ชำนาญพอในบางเรื่องก็ได้

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศและของประชาชนทุกคน ดังนั้น การเข้าถึง เข้าใจ และการสื่อสารกับคนที่คิดต่างอย่างมีอารยะ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการอย่างสันติ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยหลังตั้งรัฐบาลใหม่นั้น นางวรวรรณมองว่าสิ่งที่ต้องเฝ้าจับตาดูมี 3 เรื่อง คือ รัฐบาลใหม่จะขจัดคอร์รัปชันได้หรือไม่ เพราะนี่คือต้นทุนทางธุรกิจที่หนักหนาสาหัสมาก และระบาดไปทั่ว ไม่ว่าจะขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก

นอกจากนี้ ยังต้องกล้าพอที่จะดำเนินการอย่างเป็นธรรม ต่อการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นไปแล้วโดยไม่เห็นแก่หน้าใครหรือไม่ เพราะเพียงแค่ขจัดคอร์รัปชันไปได้ก็จะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศนี้เคยมีมาได้เลยทีเดียว และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจไทย

สำหรับเรื่องที่สอง คือเรื่องของทุนผูกขาดที่เอาเปรียบสังคม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะจัดการอย่างเป็นธรรมโดยให้ผู้คนพึงพอใจ ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ คือ ทำอย่างไรถึงจะให้คนชั้นกลางและคนตัวเล็กตัวน้อย ได้มีอาชีพการงานที่เหมาะสม และทำให้ยืนได้ด้วยตัวเอง “อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ในท่ามกลางกระแสของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างที่เป็นอยู่