posttoday

TDRI ประเมินผลการเลือกตั้ง ชี้ชัด ประชาชนไม่เอา ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ

15 พฤษภาคม 2566

ทีดีอาร์ไอ ชี้ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง เสียงสะท้อนประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาการเมืองแบบเดิม พร้อมวิเคราะห์ 3 สูตรจัดตั้งรัฐบาล จับตาอาจมีดิวข้ามขั้ว หวั่นกับดักกกต. จุดเปลี่ยนดึงคนลงถนนประท้วง

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนได้ว่า  มติประชาชนค่อนข้างชัดเจนว่า เสียงประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเบื่อการเมืองแบบเดิมๆ ระบบบ้านใหญ่ครองเขต ส่งผลให้พรรคก้าวไกล จึงตีเขตหลักๆได้ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง ซึ่งเป็นเขตบ้านใหญ่ ตีจนได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของทุกภาค หลายๆพื้นที่ แม้ว่าจะไม่ได้เขตคน ก็เลือกกาให้ สมุทรปราการ และกทม. ที่สะท้อนค่อนข้างเอกฉันท์ให้เหนือพรรคเพื่อไทย

 

“ ประชาชนได้แสดงความเห็นแล้วว่า ต้องการอะไร ประเทศจะเดินได้ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของตน คือ ให้พรรคก้าวไกลฟอร์มรัฐบาล สร้าง MOU ที่พรรคร่วมยอมรับได้ และมากกว่าพรรคการเมืองต้องยอมรับเสียงประชาชน คือ ทุกฝ่าย ทั้ง กกต องค์กรอิสระ ทหาร ต้องก็ยอมรับผลครั้งนี้ ไม่อยากเห็นวังวนเดิม”
 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้พรรคก้าวไกลได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเป็นตัวแปรด้วย เช่น ใบเหลือง-ใบแดง-ยุบพรรค แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากก็ต้องดูสูตรการจับมือ ซึ่งมี 3 สูตรหลัก คือ

 

สูตร1 พรรคฝ่ายค้านเดิม คือ พรรคก้าวไกล จับมือพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ  พรรคไทยสร้างไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมกันได้ราวๆ 300 เสียง แต่สูตรนี้ต้องการ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) หนุนให้เกิน 375 เสียง

 

สูตร2 พรรคกลุ่มที่ 1 จับมือเพิ่มกับ พรรคภูมิใจไทย และ/หรือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาเพิ่ม เพื่อให้เกิน 375 เสียง สูตรนี้ก็จะมีการต่อรองกันมากมาย เพราะเช่น พรรคก้าวไกลไม่อยากให้ภูมิใจไทยได้กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข แต่พรรคภูมิใจไทยอยากดันกัญชาต่อ และพรรคภูมิใจไทย/ประชาธิปัตย์ไม่อยากแตะ มาตรา 112 เป็นต้น แถมรวมกันเป็นเสียงสูงมากจะถูกครหาว่าเป็นเผด็จการสภา

 

สูตร3 ถ้า 1 และ 2 ลากยาวไปไม่จบ อาจจะเกิดกรณี พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทยจับมือกับพรรคย่อยๆ เพื่อให้ได้เสียงเกิน 250 เสียง และทิ้งพรรคก้าวไกล พล.อ.ประยุทธ์ หรือทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

 

“ทิศทางตอนนี้ คือ รอดู แบบ1 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กับเรื่องยุบพรรค ถ้ายุบพรรคก้าวไกลก็น่าจะกลับไปวังวนประท้วงอีก แบบที่ 2 เดตล็อคกรณี 1&2 ถ้าจบไม่ได้ก็จะไม่ดี แต่หาข้อสรุปยาก สว คงไม่ยอมโหวตให้ง่ายๆ และต่อรองให้เป็น แบบที่ 2 ก็ใช้เวลา เพื่อไทยคงไม่กล้าบุ่มบ่ามไปเลือกแบบ และ 3 เพราะคนเลือกก้าวไกลเยอะมาก คงปล่อยให้ ก้าวไกลเดินเกมเองว่าจะทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้จนคนเริ่มบ่นค่อยออกมาลองบ้าง”

 

ดังนั้น ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ส่งให้เศรษฐกิจไทยมีคลุมเครือมากขึ้น ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล และใครจะได้คุมเศรษฐกิจ ถ้าเพื่อไทยชนะจะชัดเจนกว่านี้ครับ แต่พอก้าวไกลชนะ แปลว่าจะเอาทั้งตำแหน่งนายกรัฐมตรี กระทรวงเศรษฐกิจ ไปจนถึงการปฏิรูปสังคมและการเมือง ทั้งหมดเป็นไปได้ยาก แถมต้องต่อรองให้ได้เกิน 375 เสียง ไม่รู้จะเหลืออะไรบ้าง ปกติรวมกัน 300 เสียงยังต่อรองกันไม่ลงตัวเลย

 

ดร.นณริฏ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ ด่านแรกคือ กกต. พร้อมๆกัน คือ การฟอร์มรัฐบาลของก้าวไกล ส่วนตัวมองว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าต้องการรัฐบาลใหม่ที่ต่างจากเดิม แต่พอลงรายละเอียดยังมีอะไรเสี่ยงๆอยู่บ้าง เช่น ก้าวไกลโดนกรณีหุ้นของพิธา เหมือนว่าไม่ได้เตรียมตัวมาบริหารประเทศเท่าไหร่ แบบตกม้าตายด้วยข้อกฏหมายที่เคยโดนมาแล้ว แบบนี้ถ้ามาบริหารประเทศที่มีกฏระเบียบมากมาย ถ้าทำอะไรผิดก็ถูกฟ้อง ถูกถอดถอน หรือเรื่องไม่เดินได้หมด