posttoday

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง เสถียรภาพทางพลังงาน หรือ จำเลยค่าไฟแพง

04 พฤษภาคม 2566

เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เมื่อผลิตแล้วหมดไป ต้องผลิตทันทีเมื่อมีความต้องการใช้ อีกทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปี และหากต้องสร้างท่อก๊าซด้วยก็จะต้องใช้เวลานานถึง 5-7 ปี ดังนั้น ในการอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า

          เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เมื่อผลิตแล้วไม่สามารถเก็บไว้ได้ ต้องผลิตทันทีเมื่อมีความต้องการใช้ อีกทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปี และหากต้องสร้างท่อก๊าซด้วยก็จะต้องใช้เวลานานถึง 5-7 ปี ดังนั้น ในการอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดหาโรงไฟฟ้าใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ป้องกันไม่ให้เกิดไฟตกหรือไฟดับเป็นการสร้างเสถียรภาพทางพลังงานให้กับประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

          สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เป็นไปตามประมาณการ สภาวะทางเศรษฐกิจถดถอยและจำนวน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยลดลงอย่างมาก ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงน้อยตามไปด้วย ทำให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เคยคาดการณ์ไว้ดูมากกว่าการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง

          มีการสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นกว่า 50-60% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากการคำนวณที่ผิดพลาด เพราะเป็นการนำเอาตัวเลขกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดมารวมกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสถียรของแต่ละแหล่งผลิตไฟฟ้า ซึ่งในความจริงแล้วไม่สามารถคำนวณแบบนั้นได้ เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งผลิตที่ไม่มีความเสถียร จึงต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีความเสถียร สำรองไว้ในกรณีที่ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถผลิตได้ด้วย ซึ่งการนำกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น Solar, Wind และ Hydropower มารวมกันโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการ

          ผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลานั้น จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินจริง ยกตัวอย่างในกรณีของ Solar สามารถผลิตได้ในช่วงกลางวัน 4-5 ชม./วัน เท่านั้น ในขณะที่ Wind ส่วนใหญ่จะผลิตได้ในช่วงหัวค่ำและกลางคืน ประมาณ 6-7 ชม./วัน ส่วน Hydropower สามารถผลิตได้ในฤดูฝน ไม่สามารถผลิตได้ในฤดูแล้ง หากนำกำลังการผลิตของทั้งสามประเภทนี้มารวมกันแล้วไปคำนวณเป็นกำลังผลิตสำรองจะไม่ถูกต้อง เพราะแหล่งผลิตไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภทไม่สามารถผลิตได้ในเวลาเดียวกัน

          ประเทศที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเยอะมีความจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากขึ้นด้วย เพื่อความมั่นคงของระบไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากตารางด้านล่าง ดังนั้น การสร้างความเข้าใจว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองควรมีแค่ 15-20% จึงเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง  เสถียรภาพทางพลังงาน หรือ จำเลยค่าไฟแพง

          การกล่าวว่า Reserve Margin ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ไม่เป็นความจริง โดยราคาไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปี 2565 นั้น ไม่ได้แปรผันตามปริมาณ Reserve Margin ดังแสดงให้เห็นตามกราฟด้านล่างว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลง ทำให้ Reserve Margin สูงขึ้นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟของไทย ส่วนในปี 2558 ที่ปริมาณ Reserve Margin มีเพียง 29% แต่ค่าไฟกลับสูงถึง 3.86 บาท สะท้อนให้เห็นว่าค่าไฟที่ปรับขึ้นนั้น ไม่ได้สัมพันธ์กับ Reserve Margin แต่อย่างใด

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง  เสถียรภาพทางพลังงาน หรือ จำเลยค่าไฟแพง          

          ส่วนกราฟด้านล่างแสดงให้เห็นชัดเจนว่าค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้นแปรผันตามราคาก๊าซฯ (Pool Price) อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าคือราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ในปี 2564 แม้ก๊าซฯ จะราคาสูงขึ้น แต่รัฐมีการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน แต่สามารถทำได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ที่มา: แผนพัฒนากาลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่

          จากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ปริมาณ 3,668 เมกะวัตต์ โดยเป็นการดำเนินการต่อยอดการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจากที่ได้มีการเปิดรับซื้อตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ในปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) เพราะปัจจัยหลักที่นักลงทุนต่างชาติจะเลือกลงทุน คือจะเลือกลงทุนในประเทศที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานสะอาดเยอะ ดังนั้น ถ้าประเทศไทยไม่มีไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด ก็จะไม่สามารถดึงดูด FDI ได้ ลดขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าร่วม COP26 และได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (พ.ศ.2608)

          โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีการเปิดรับซื้อใหม่นั้นจะเป็นไฟฟ้าราคาถูก ช่วยลดค่า Ft ส่งผลให้ค่าไฟลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนสูง หากไม่มีการเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่นี้ ประเทศไทยจะต้องผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนต่อหน่วยประมาณ 3.71 บาท/หน่วย (คำนวณจากราคา Pool Gas ที่ 444 บาท/ล้านบีทียู ณ เดือน ม.ค.-มิ.ย.65) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพง ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่นี้ มีต้นทุนเพียง 2.0724 – 3.1014 บาท/หน่วย เท่านั้น และเป็นราคาที่ถูกกว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศที่ 4.72 บาท/หน่วย

          การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนในรอบใหม่ มีกำหนดให้ทยอยเปิดดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปี 2573 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะปลดระวางจากระบบในช่วงปีดังกล่าวเนื่องจากหมดอายุการใช้งาน ทั้งหมด 9,800 MW ประกอบด้วย ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (3,481 MW), โกลว์ ไอพีพี (713 MW), โกบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (700 MW), โรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1-2 (650 MW), โรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 3 (576 MW), โรงไฟฟ้าบางปะกง เครื่องที่ 4 (576 MW), โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 10-11 (540 MW), โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 12-13 (540 MW), โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 9 (270 MW), ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (1,023.8 MW) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (606.2 MW)