posttoday

ใครลืมรหัสส่วนบุคคล แนะวิธีเปลี่ยนรหัส PIN บัตรสวัสดิการ

05 เมษายน 2566

ก.คลัง แนะวิธี เปลี่ยน PIN หลังพบผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำรหัสส่วนบุคคลไม่ได้ พร้อมวิธีอายัดบัตร หากทำบัตรประชาชนสูญหาย ขณะที่วันนี้(5เม.ย.) มีผู้ผ่านเกณฑ์การยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวน 12,978,844 คน มีผู้ยื่นอุทธรณ์ 1,228,976 คน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 (โครงการฯ) ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 (ผู้มีสิทธิฯ) ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. มีมูลค่าการใช้สิทธิสะสมจำนวนกว่า 2,644.60 ล้านบาท จากผู้มีสิทธิฯ จำนวนกว่า 8.67 ล้านราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สิทธิในวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด และวงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะตามลำดับ 

 

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการเริ่มใช้สิทธิ พบว่า ผู้มีสิทธิฯ บางส่วนที่ยืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำเร็จแล้ว โดยเมื่อไปใช้สิทธิที่ร้านธงฟ้าฯ พบว่า ไม่สามารถจำรหัสส่วนบุคคล (Personal Identification Number: PIN) หรือต้องการเปลี่ยนแปลงรหัส PIN ที่เคยกำหนดไว้ในขั้นตอนการยืนยันตัวตน ซึ่งในกรณีดังกล่าว ผู้มีสิทธิฯ สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ 

 

1. กรณีต้องการเปลี่ยนรหัส PIN ใหม่ สามารถดำเนินการได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยรหัส PIN ใหม่จะต้องไม่ซ้ำกับรหัส PIN เดิมที่เคยกำหนด 10 ครั้ง ย้อนหลัง และต้องทำการยืนยันตัวตนทุกครั้งที่เปลี่ยนรหัส PIN ซึ่งจะสามารถใช้สิทธิได้หลังจากกำหนดรหัส PIN ใหม่ ประมาณ 2 ชั่วโมง 
 

 

2. กรณีกดรหัส PIN ตามที่เคยกำหนดไว้ในขั้นตอนการยืนยันตัวตนไม่ถูกต้อง จำนวน 3 ครั้ง จะถูกระงับการใช้งาน (สำหรับสิทธิสวัสดิการที่ต้องใส่รหัส PIN) ซึ่งผู้มีสิทธิฯ สามารถติดต่อขอทำการยืนยันตัวตนกำหนดรหัส PIN ใหม่ โดยต้องดำเนินการตามข้อ 1 

 

3. กรณีที่ดำเนินการยืนยันตัวตนแล้ว แต่มีการเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากบัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ หรือสูญหาย จะต้องอายัดสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐด้วยตนเองผ่านระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ กับศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Call Center) หมายเลขโทรศัพท์ 02 109 2345 ซึ่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยฯ ตามวันและเวลาทำการของสาขาของธนาคารกรุงไทยฯ ในวันจันทร์ - วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 - 17.30 น. โดยผู้มีสิทธิฯ ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ไปติดต่อขอทำการยืนยันตัวตนเพื่อกำหนด รหัส PIN ใหม่ โดยต้องดำเนินการตามข้อ 1 

 

สำหรับความคืบหน้าของผู้ที่ผ่านเกณฑ์ตามโครงการฯ ที่ดำเนินการยืนยันตัวตนแล้ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. พบว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จจำนวนทั้งสิ้น 12,978,844 ราย (ร้อยละ 88.91 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจำนวน 14,596,820 ราย) และจำนวนผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการฯ ณ วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 13.00 น. มีจำนวนทั้งสิ้น 1,228,976 ราย

 

ส่วนผู้ผ่านเกณฑ์ที่ไม่ได้ดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ยังคงสามารถยืนยันตัวตนได้ที่ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. ได้ตามวันเวลาที่ธนาคารกำหนด และสามารถเริ่มใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ตามวันที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งในการยืนยันตัวตนผู้ผ่านเกณฑ์จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) และต้องผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนกับธนาคารใดก็ได้ เนื่องจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้าจะทำให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการฯ สะดวกในการรับสิทธิสวัสดิการ หากภาครัฐมีการให้สวัสดิการเป็นเงินโอนเข้าบัญชีในอนาคต

 

ทั้งนี้ ผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ เนื่องจากการตรวจสอบสถานะบัตรประจำตัวประชาชนไม่ผ่าน ซึ่งในกรณีนี้ขอให้ผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลได้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และหากตรวจสอบและแก้ไขสถานะบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ให้ดำเนินการยืนยันตัวตนอีกครั้ง นอกจากนี้ การยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอาจเกิดจากกรณีเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่าน ซึ่งผู้ที่ยืนยันตัวตนไม่สำเร็จกรณีเปรียบเทียบใบหน้าไม่ผ่านขอให้ติดต่อธนาคารกรุงไทยฯเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตนตามขั้นตอนของธนาคารกรุงไทยฯ ต่อไป 

 

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ขอให้รีบดำเนินการยื่นขออุทธรณ์ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 โดยดำเนินการผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้ 

 

1. ขออุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ถึง 23.00 น. ของทุกวัน หรือ 

 

2. ขออุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทยฯ ธ.ก.ส. สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรือศาลาว่าการเมืองพัทยา ตามวันและเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน โดยให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งผู้ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนก่อนดำเนินการยื่นอุทธรณ์ 

 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติได้ทำการยื่นขออุทธรณ์ตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ขอให้ไปติดต่อเพื่อขอตรวจสอบและ/หรือขอปรับปรุงแก้ไขข้อมูลในกรณีที่ข้อมูลไม่ถูกต้องให้ถูกต้องได้ที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้วยตนเอง หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติกำหนด โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือhttps://welfare.mof.go.th