posttoday

สรรพสามิต ดีเดย์ปรับขึ้นภาษีความหวาน เฟส 3 เริ่ม 1 เม.ย.นี้

27 มีนาคม 2566

สรรพสามิต เตรียมปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน เฟสที่ 3 ตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ หลังชะลอปรับขึ้นเป็นเวลา 6 เดือน เชื่อผู้ประกอบการปรับตัวได้ ไม่เป็นภาระต้นทุนการผลิต จนกลายเป็นภาระผู้บริโภค หลังผู้ผลิตได้ทยอยปรับตัวลดสัดส่วนน้ำตาลลง และมาใช้สารให้ความมากขึ้น

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุม กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้กรมสรรพสามิต จะเริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล เข้าสู่ระยะที่3 หลังจากที่รัฐบาลได้ชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวเข้าสู่เฟสที่ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้สิ้นสุดลง ดังนั้น อัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มในเฟสที่สาม ซึ่งจะสูงขึ้นกว่าเฟสที่1 และสอง จะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. นี้ เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ เมื่ออัตราภาษีความหวานได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว หากผู้ประกอบการรายใด ไม่ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต โดยลดส่วนผสมจากน้ำตาลลง จะทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการจัดเก็บภาษีค่าความหวานดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อต้องการดูแลสุขภาพของไทยให้ห่างไกลจากโรคอ้วน เบาหวาน และความดัน

 

สำหรับ ภาษีความหวานระยะที่ 3 ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 1 เม.ย. 2566 - 31 มี.ค. 2568 มีอัตรา ดังนี้ ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตรปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร

 

สำหรับ ภาษีความหวานจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทุกๆ 2ปี ซึ่งระยะที่สามจะมีผล 1 เม.ย.แล้ว ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวในการผลิต โดยลดความหวานลงจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 มิลลิกรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ผู้ผลิตทยอยลดปริมาณน้ำตาลลงแล้ว ซึ่งจะไม่ทำให้มีภาระภาษีเพิ่มแต่อย่างใด

 

กรมสรรพสมิต มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม อยู่แล้ว แต่ได้เพิ่มภาษีความหวานสำหรับเครื่องดื่ม โดยคิดตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มนั้นๆ

 

การขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในเฟสนี้ จะไม่กระทบให้ราคาเครื่องดื่มที่มีความหวาน หรือน้ำอัดลมราคาเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นภาระต่อผู้บริโภค เนื่องจาก ขณะนี้ทางผู้ผลิตสินค้าได้ทยอยปรับตัว ลดส่วนผสมน้ำตาลลง หรือหันไปใช้น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานอื่นๆ ผสมกับน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพจะน้อยกว่าแทน ซึ่งถือเป็นไปตามเป้าหมายของกรมฯ ที่ต้องการให้สินค้ามีความหวานลดลง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค
 

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 กว่ารายการ ล่าสุดในเดือนม.ค.ที่ผ่านมานี้ เพิ่มเป็น 1,800 รายการ หรือเพิ่มมากกว่าเดิม 9 เท่าตัว เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมกำลังมีมากขึ้น ขณะที่ น้ำอัดลมจากที่เคยมีความหวานมากๆ เกิน 10 กรัมต่อลิตร ก็เหลือความหวานเพียง 7.3-7.5กรัมต่อลิตรในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เชื่อว่ากรณีกระทรวงอุตสาหกรรมมีการขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก กก.ละ 1.75 บาท จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ รีบปรับสูตรการผลิตโดยลดน้ำตาลลงไปอีก

 

ส่วน ภาษีความเค็ม ขณะนี้กรมฯศึกษาเสร็จไปแล้ว 90% แต่จะเริ่มใช้เมื่อไร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของช่วงเวลา เพราะขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวไม่สูงนัก แต่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากกรมฯไปขึ้นภาษีตอนนี้อาจซ้ำเติมให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคได้รับผลกระทบได้ จึงต้องรอดูความชัดเจนของนโยบายอีกครั้ง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ หากกรมฯจะประกาศใช้ภาษีความเค็ม ก็จะมีระยะเวลาให้ปรับตัวอย่างน้อย 1 ปี